ไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น |
|
|
ภาคผนวก |
|
|
|
|
บทที่ 1 ภาพรวม |
อ่าน
271,398 ครั้ง
|
- ประโยค (文 : bun)
คือ ภาษาที่สื่อสารความคิดหรือเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง โดยจะจบประโยคด้วยเครื่องหมาย 。(句点 kuten)
- กลุ่มคำ หรือวลี (文節 : bunsetsu)
คือ สิ่งที่เกิดจากการตัดแบ่งประโยคออกเป็นกลุ่มคำที่เล็กที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียความหมาย
เช่น watashi wa taijin desu ประกอบด้วยกลุ่มคำ 2 กลุ่ม คือ 「watashi wa」 และ 「taijin desu」
- คำศัพท์ (単語 : tango)
คือ หน่วยที่เล็กที่สุดจากการตัดแบ่งกลุ่มคำออกเป็นคำๆ เช่น
「watashi」, 「wa」, 「taijin」 และ 「desu」
- บทความ (文章 : bunshou)
คือ การนำประโยคหลายประโยคมาเรียงต่อกัน เพื่อสื่อสารให้ได้เนื่้อหาใจความสมบูรณ์
- ย่อหน้า (段落 : danraku)
คือการตัดแบ่งบทความออกเป็นช่วงๆ ตามเนื้อหาใจความ โดยแต่ละย่อหน้าจะเริ่มด้วยการเว้นวรรค 1 ตัวอักษร
แบ่งตามโครงสร้างในประโยคได้เป็น 5 ประเภท คือ
- ประธาน (主語 : shugo)
คือส่วนที่บอกว่า "ใคร" "อะไร" เป็นต้น
- ภาคแสดง (述語 : jutsugo)
คือส่วนที่บอกว่า "เป็นอะไร" "แบบไหน" "ทำอะไร" เป็นต้น
- คำขยาย (修飾語 : shuushokugo)
คือส่วนที่ทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำอื่นในประโยคให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
- คำเชื่อม (接続語 : setsuzokugo)
คือกลุ่มคำเพื่อเชื่อมประโยคหรือกลุ่มคำด้วยกันเอง
- คำอิสระ (独立語 : dokuritsugo)
คือกลุ่มคำที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคำอื่นในประโยค เช่น คำอุทาน คำเรียกขาน คำตอบรับ เป็นต้น
หรือแบ่งตามความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคำด้วยกันเองได้เป็น 6 ประเภท คือ
- กลุ่มคำทำหน้าที่เป็น ประธาน กับ ภาคแสดง
เพื่อบอกว่า "ใคร" "ทำอะไร" หรือ "อะไร" "เป็นแบบไหน" เช่น
- 私は学校に通います。
- Watashi wa gakkou ni kayoimasu
- ฉัน ไป โรงเรียน
- กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็น ส่วนขยาย กับ ส่วนที่ถูกขยาย
โดยกลุ่มคำที่อยู่ข้างหน้าจะทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำที่ตามหลังมา เช่น
- 私は学校に楽しく 通います。
- Watashi wa gakkou ni tanoshiku kayoimasu
- ฉัน ไป โรงเรียน อย่างสนุกสนาน
- กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เชื่อมกลุ่มคำด้วยกันเอง เช่น
- 私は勉強したいので学校に通います。
- Watashi wa benkyou shitai node gakkou ni kayoimasu
- ฉัน ไป โรงเรียน เพราะอยากเรียนหนังสือ
- กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นกลุ่มคำอิสระ
คือจะวางสลับที่กันได้โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนแปลงไป เช่น
- 私は会話をしたり 勉強をしたいので学校に通います。
- Watashi wa kaiwa o shitari benkyou o shitai node gakkou ni kayoimasu
- ฉันไปโรงเรียน เพราะอยากเรียนหนังสือ และอยากพูดคุย
- กลุ่มคำที่ทำหน้าที่สนับสนุน
โดยกลุ่มคำที่อยู่ด้านหลังจะทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำที่อยู่ข้างหน้า เพื่อรวมเป็นความหมายเดียวกัน เช่น
- 私は学校に通って います。
- Watashi wa gakkou ni kayotte imasu
- ฉัน กำลัง ไป โรงเรียน
- ทำหน้าที่เป็นกลุ่มคำอิสระในประโยค เช่น
- はい、私は学校に通います。
- Hai, watashi wa gakkou ni kayoimasu
- ใช่ ฉันไปโรงเรียน
ซึ่งกลุ่มคำทั้ง 6 ประเภทข้างต้น อาจรวมอยู่ในประโยคเดียวกันก็ได้ เช่น
- はい、私は 会話をしたり 勉強をしたいので 学校に 楽しく 通って います。
- Hai, watashi wa kaiwa o shitari benkyou o shitai node gakkou ni tanoshiku kayotte imasu
- ใช่ ฉัน กำลัง ไป โรงเรียน อย่างสนุกสนาน เพราะอยากเรียนหนังสือ และอยากพูดคุย
แบ่งตามความหมายได้เป็น 4 ประเภท คือ
- ประโยคบอกเล่า (平叙文 : heijobun)
- ประโยคคำถาม (疑問文 : gimonbun)
- ประโยคอุทาน (感動文 : kandoubun)
- ประโยคคำสั่ง (命令文 : meireibun)
หรือแบ่งตามโครงสร้างได้เป็น 3 ประเภทคือ
- ประโยคความเดียว (単文 : tanbun)
คือ ประโยคที่มีประธานและภาคแสดงอย่างละ 1 ชนิดเท่านั้น เช่น
- 私の先生は田中さんです
- Watashi no sensei wa Tanakasan desu
- อาจารย์ของฉันคือคุณทานากะ
- ประโยคผสม (重文 : juubun)
คือ ประโยคที่มี 2 ประโยคแยกกันอยู่อย่างอิสระในประโยคเดียวกัน ซึ่งแม้จะตัดแบ่งออกเป็นประโยคความเดียว 2 ประโยค ก็ไม่ทำให้ความหมายโดยรวมเปลี่ยนแปลงไป เช่น
- 田中さんが立ち、ソムチャイさんが座る
- Tanakasan ga tachi, Somuchai san ga suwaru
- คุณทานากะยืน คุณสมชายนั่ง
- ประโยคซ้อน (複文 : fukubun)
คือ ประโยคที่มีภาคแสดงอยู่ในกลุ่มคำขยาย จึงทำให้ประโยคนั้นมีภาคแสดงซ้อนกันอยู่ในประโยคเดียวกัน เช่น
- 子供を背負った田中さんが走る
- Kodomo o seotta tanaka san ga hashiru
- คุณทานากะ (ซึ่ง)แบกลูกอยู่บนหลัง วิ่ง
สามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ
วิธีที่หนึ่ง แบ่งตามโครงสร้างของกลุ่มคำ
- คำอิสระ (自立語 : jiritsugo)
คือ คำที่มีความหมายในตัวเอง สามารถสร้างเป็นกลุ่มคำได้
- คำพ่วง (付属語 : fuzokugo)
คือ คำมีไม่มีความหมายในตัวเอง ต้องใช้พ่วงต่อท้ายคำอิสระจึงจะเกิดเป็นกลุ่มคำ เช่น は、が、に เป็นต้น
วิธีที่สอง แบ่งตามโครงสร้างของประโยค
- คำหลัก (体言 : taigen)
คือคำอิสระที่ผันรูปไม่ได้ สามารถนำไปเป็นประธานของประโยคได้ ประกอบด้วยคำนาม คำสรรพนาม และตัวเลข โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า 本体の語 (คำที่เป็นตัวหลัก)
- คำแสดง (用言 : yougen)
คือคำอิสระที่สามารถผันรูปได้ สามารถนำไปเป็นภาคแสดงของประโยคได้ ประกอบด้วยคำกริยา และคำคุณศัพท์ทั้งกลุ่มที่ 1 (~い) และกลุ่มที่ 2 (~な) โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า 作用の語 (คำที่แสดงอาการ)
การผันรูป (活用 : katsuyou) |
คำศัพท์บางประเภทสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ แต่บางชนิดเปลี่ยนรูปแบบไม่ได้
เช่น คำว่า "ไป" สามารถผันจากฟอร์มปกติ 行-く (i-ku) เป็นฟอร์มสุภาพ 行-きます (i-kimasu) หรือฟอร์มปฏิเสธ 行-かない (i-kanai) ได้
แต่คำว่า "私 : ฉัน" ไม่สามารถผันเป็นฟอร์มอื่นได้ เป็นต้น
ไวยากรณ์ญี่ปุ่นกำหนดชนิดของคำ ตามประเภทของคำและการผันรูป ไว้ 10 ประเภทคือ
ดูตาราง Hinshi
- คำนาม (名詞 : meishi)
- คำกริยา (動詞 : doushi)
- คำคุณศัพท์ (形容詞 : keiyoushi)
เป็นคำแสดงรูปร่าง ลักษณะ หรืออาการของคำนามว่าเป็นอย่างไร โดยจะลงท้ายด้วยเสียง ~い (-i) เมื่อนำไปขยายหน้าคำนาม
- คำกริยาคุณศัพท์ (形容動詞 : keiyoudoushi)
เป็นคำแสดงรูปร่าง ลักษณะ หรืออาการของคำนามว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับคำคุณศัพท์
แต่จะลงท้ายด้วย ~な (-na) เมื่อนำไปขยายหน้าคำนาม
※ ในเว็บไซต์นี้จะเรียกคำคุณศัพท์ซึ่งลงท้ายด้วยเสียง い ในข้อ 3 ว่า "คำคุณศัพท์ประเภทที่ 1"
และเรียกคำกริยาคุณศัพท์ซึ่งลงท้ายด้วยเสียง な ในข้อ 4 ว่า "คำคุณศัพท์ประเภทที่ 2"
- คำขยายคำหลัก (連体詞 : rentaishi)
ทำหน้าที่ขยายคำหลัก (taigen) เช่น
- あらゆる方法 : arayuru houhou : ทุกวิธี หรือ
- ある人 : aru hito : ใครคนหนึ่ง
เป็นต้น
- คำวิเศษณ์ (副詞 : fukushi)
ทำหน้าที่ขยายคำแสดง (yogen) เพื่อให้รู้ว่าอาการเกิดขึ้นในสภาพใด เช่น
- ゆっくり走る : yukkuri hashiru : วิ่งช้า หรือ
- とてもいい : totemo ii : ดีมาก หรือ
- 決して高くない : kesshite takakunai : ไม่แพงเลย เป็นต้น
- คำเชื่อม (接続詞 : setsuzokushi)
ทำหน้าที่เชื่อมประโยคหรือกลุ่มคำ เช่น
- 頭が痛いです。しかし、病院に行きません。
Atama ga itai desu. Shikashi byouin ni ikimasen.
(ฉัน)ปวดศีรษะ แต่จะไม่ไปโรงพยาบาล
- คำอุทาน (感動詞 : kandoushi)
เช่น คำเรียกขาน คำตอบรับ หรือคำอุทานแสดงความรู้สึก เป็นต้น
- คำกริยานุเคราะห์ (助動詞 : jodoushi)
เป็นคำช่วยผันคำแสดง (yougen) มี 18 แบบ คือ
- れる・られる・せる・させる・ない・ぬ(ん)・う・よう・まい・たい・たがる・た(だ)・ます・そうだ・らしい・ようだ・だ และ です
- คำช่วย (助詞 : joshi)
แบ่งเป็น 8 ชนิด คือ
- คำช่วยสถานะ (格助詞 : kaku joshi)
ทำหน้าที่ขยายคำหลัก (taigen) ว่ามีสถานะเกี่ยวข้องกับคำอื่นในประโยคอย่างไร ประกอบด้วย が、の、を、に、へ、と、より、から และ で ยกตัวอย่างเช่น
- 田中さん が 日本人です : Tanaka san ga nihonjin desu : คุณทานากะเป็นคนญี่ปุ่น
→ が ช่วยชี้ว่า 田中さん เป็นภาคประธานของประโยค
- 田中さんが 水 を 飲みます : Tanaka san ga mizu o nomimasu : คุณทานากะดื่มน้ำ
→ を ช่วยชี้ว่า お水 เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ (เป็นกรรมของภาคแสดง)
- คำช่วยเชื่อม (接続助詞 : setsozoku joshi)
ทำหน้าที่ขยายคำแสดง (yougen) และคำกริยานุเคราะห์ (jodoushi) เพื่อขยายความสัมพันธ์ของวลีที่อยู่ข้างหน้ามีความเกี่ยวข้องกับวลีที่ตามมาด้านหลังอย่างไร
หรือกล่าวคือเป็นคำช่วยเพื่อชี้ความสัมพันธ์ของวลีข้างหน้าและข้างหลัง
เช่น ば、と、ても、でも、が、のに、ので เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- 行けば 会える : ikeba aeru : ถ้าไปก็เจอ
- 行っても会えない : itte mo aenai : ถึงไปก็ไม่เจอ
- คำช่วยวิเศษณ์ (副助詞 : fukujoshi)
คือทำหน้าที่ขยายความหรือจำกัดขอบเขตของคำกริยาหรือคุณศัพท์ที่อยู่ด้านหลัง ได้แก่ ばかり、だけ、ほど、くらい、など เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
- これだけ下さい : kore dake kudasai : ขอแค่นี้
- 彼ほどできる人はいません : kare hodo dekiru hito wa imasen : ไม่มีใครเก่งเท่าเขา
- คำช่วยภาคแสดง (係助詞 : kakarijoshi)
ทำหน้าที่ชี้คำที่เกี่ยวข้องกับภาคแสดง เพื่อบรรยายผลกระทบกับคำนั้นอย่างไร เช่น การเน้นย้ำ การกระทำซ้ำ เป็นต้น ได้แก่ は、も、こそ、しか、でも และ さえ ยกตัวอย่างเช่น
- 私も行きます : Watashi mo ikimasu : ฉันก็จะไป
- 日本は行きません : Nihon wa ikimasen : จะไม่ไปญี่ปุ่น (เน้นญี่ปุ่น)
- あなたしか行きません : Anata shika ikimasen : คุณเท่านั้นที่จะไป
- คำช่วยจบ (終助詞 : shuujoshi)
ใช้จบท้ายประโยคเพื่อแสดงความต้องการหรือความรู้สึก เช่น な、か、の、よ、とも、わ、ぞ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
- 行くな : iku na : อย่าไป (สั่งห้าม)
- 行きましょうよ : ikimashou yo : ไปกันเถอะ (ชักชวน)
- 行くぞ : iku zo : จะไปละ (ยืนยัน)
- คำช่วยอุทาน (間投助詞 : kantou joshi)
เป็นคำช่วยระหว่างประโยคหรือท้ายวลี เพื่อแสดงอารมณ์ หรือเน้นย้ำ หรือเล่นเสียง เช่น な、なあ、ね、ねえ、さ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
- 高いねえ : takai nee : แพงจัง
- คำช่วยคู่ขนาน (並立助詞 : heiritsu joshi)
เป็นคำช่วยเพื่อเชื่อมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปในลักษณะเท่าเทียมกัน
ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำมาจากคำช่วยสถานะ (kakujoshi) คำช่วยภาคแสดง (kakari joshi) คำช่วยวิเศษณ์ (fuku joshi) และคำเชื่อม (setsuzokushi) เช่น と、に、か、や、やら、の、だの เป็นต้น
- คำช่วยแปลงคำหลัก (準体助詞 : juntai joshi)
ทำหน้าที่แปลงคำศัพท์หรือวลีให้มีสถานะเป็นคำหลัก (taigen) โดยส่วนใหญ่จะเป็นคำช่วยชนิดเดียวกันกับคำช่วยสถานะ (kakujoshi) ยกตัวอย่างเช่น
- 私のがありません : watashi no ga arimasen : ของฉันไม่มี
- 日本に着いてからが心配です : Nihon ni tsuite kara ga shinpai desu : หลังจากไปถึงญี่ปุ่นแล้วจึงน่าเป็นห่วง
คำศัพท์บางประเภทสามารถเปลี่ยนจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ เช่น
คำกริยาแปลงรูปเป็นคำนาม หรือคำคุณศัพท์แปลงรูปเป็นคำนาม เช่น
- 【คำกริยา】 動く : ugoku : เคลื่อนที่ → 【คำนาม】 動き : ugoki : การเคลื่อนที่
- 【คำคุณศัพท์】 高い : takai : สูง → 【คำนาม】 高さ : takasa : ความสูง
- 【คำคุณศัพท์】 清潔な : seiketsu na : สะอาด → 【คำนาม】 清潔さ : seiketsusa : ความสะอาด
เกิดจากการนำคำศัพท์ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมารวมกันเพื่อสร้างเป็นคำใหม่ เช่น
- 町 (machi : หมู่บ้าน) + はずれ (hazure : ห่างจากใจกลาง) → 町はずれ (machihazure : ท้ายบ้าน)
- 立てる (tateru : ตั้ง) + かける (kakeru : แขวน,พิง) → 立てかける (tatekakeru : ตั้งพิง)
คำที่สร้างจากคำอื่น (派生: 語 haseigo) |
คือคำที่เกิดจากการเติมคำหรือเติมเสียงที่ด้านหน้าหรือต่อท้ายคำศัพท์เดิม เพื่อสร้างคำศัพท์ใหม่ เช่น
- 弱い (yowai : อ่อนแอ) → か弱い (kayowai : แบบบาง บอบบาง)
- 怒る (okoru : โกรธ โมโห) → 怒りっぽい (okorippoi : ขี้โมโห)
- 楽しい (tanoshii : สนุกสนาน) → 楽しみ (tanoshimi : ตื่นเต้นคาดหวังกับสิ่งที่จะมาถึง)
คำเลียนเสียง (擬声語 : giseigo หรือ 擬音語 : giongo) |
เป็นคำแสดงเสียงร้องของสัตว์ หรือเสียงของสิ่งของต่างๆ เช่น
- ワンワン (wanwan) → เสียงร้องของสุนัข
- ガタンゴトン (gatan goton) → เสียงรถไฟวิ่ง
- ザーザー (zaazaa) → เสียงน้ำไหลแรง
คำเลียนอาการ (擬態語 : gitaigo) |
เป็นคำที่ถ่ายทอดสภาพหรืออาการให้ออกมาเป็นคำพูด เช่น
- ぺらぺら (pera pera) → อาการพูดอย่างคล่องแคล่ว พูดจ้อ
- ばらばら (bara bara) → สภาพกระจัดกระจาย
|
|
|