สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

ทำไมคันจิของญี่ปุ่นจึงมีเสียง onyomi หลายเสียง

โดย Webmaster : อ่าน 44,854 ครั้ง

คันจิส่วนใหญ่ในภาษาจีน มักจะมีเสียงอ่านเพียงเสียงเดียว แต่เหตุใดคันจิในภาษาญี่ปุ่นจึงอ่านแบบจีน (on-yomi) ได้หลายเสียง

คันจิเป็นตัวอักษรที่ชาวญี่ปุ่นนำมาจากจีน เพื่อใช้เป็นตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากในสมัยโบราณญี่ปุ่นมีเพียงภาษาพูดเท่านั้น แต่ยังไม่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง

คันจิที่มีความหมายตรงกับคำศัพท์ที่ญี่ปุ่นมีอยู่แล้ว จะถูกนำไปใช้เป็นตัวอักษรแทนคำศัพท์นั้น และจะอ่านด้วยวิธีแบบเดิมของญี่ปุ่น

เช่น คันจิ 「人」 มีความหมายตรงกับภาษาญี่ปุ่นว่า "hito" แปลว่า "คน" จึงอ่านคันจิ 「人」 นี้ว่า "hito" ซึ่งการอ่านด้วยวิธีแบบเดิมของญี่ปุ่น นี้เรียกว่า kun-yomi

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็รับคำศัพท์และวิธีการออกเสียงตามแบบของชาวจีนไว้พร้อมๆกัน เช่น คำว่า 「人間」 อ่านว่า "nin-gen" แปลว่า "มนุษย์" ชาวญี่ปุ่นก็รับวิธีอ่านคันจิ 「人」 ว่า "nin" ไว้ด้วย ซึ่งการอ่านแบบภาษาจีน-สำเนียงญี่ปุ่น นี้เรียกว่า on-yomi

เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยปี ประเทศจีนเองก็มีคำศัพท์ใหม่ๆเกิดขึ้น และบางคำมีการออกเสียงแตกต่างไปตามพื้นที่มณฑลต่างๆ

ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นนำคำศัพท์ใหม่ๆ เข้ามาจากจีน คันจิที่ญี่ปุ่นเคยใช้อยู่เดิม จึงมีเสียงใหม่เกิดขึ้น เช่น คำว่า 「人生」 อ่านว่า "jin-sei" แปลว่า "ชีวิตคน" จึงทำให้คันจิ 「人」 มีเสียง on-yomi เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง คืออ่านได้ทั้ง "nin" และ "jin" ขึ้นอยู่กับว่าจะผสมกับคำอะไร

เสียง on-yomi ที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. 呉音 (go-on) หรือเสียงอู๋

รับเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 5-6 โดยเป็นการรับเข้ามาทั้งระบบ มักเป็นคำที่เกี่ยวกับศาสนาและกฎระเบียบ

2. 漢音 (kan-on) หรือเสียงฮั่น

รับเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 คือช่วงปลายสมัยนารา ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยเฮอัน เป็นกลุ่มคำที่คณะทูตและนักบวชญี่ปุ่นที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีและศึกษาความรู้ที่ประเทศจีนนำกลับมาที่ญี่ปุ่น จึงมีการจัดโครงสร้างอย่างเป็นระบบและมีความสมบูรณ์กว่ากลุ่มอื่นๆ

3. 唐音 (tou-on) หรือเสียงถัง

รับเข้ามาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-19 คือตั้งแต่สมัยคามาคุระ เรื่อยมาจนถึงสมัยเอโดะ เป็นคำที่ไม่ได้นำมาทั้งระบบ แต่มักจะติดมากับคำศัพท์เป็นคำๆ จากนักบวชนิกายเซ็นที่ไปปฏิบัติธรรม หรือจากพ่อค้าที่เดินทางไปมาค้าขายระหว่าง 2 ประเทศ

4. 慣用音 (kan-you-on) หรือเสียงที่ยอมรับโดยทั่วไป

คือเสียงอ่านแบบ on-yomi ซึ่งไม่สามารถจัดเข้าใน 3 กลุ่มแรกได้ ซึ่งอาจเกิดจากออกเสียงผิดพลาดหรือเพี้ยนไปตามยุคสมัย จนกลายเป็นเสียงที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น

การที่คันจิซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนในแต่ละช่วงเวลา มีเสียงอ่านต่างไปจากเดิม จึงเป็นสาเหตุทำให้คันจิของญี่ปุ่นมีเสียงอ่านแบบ onyomi หลายเสียงตามไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างคันจิที่อ่านเสียง on-yomi ได้หลายวิธี



go-on kan-on tou-on
諸行
sho-gyou
行為
kou-i
行灯
an-don
外題
ge-dai
外国
gai-koku
外郎
ui-rou
光明
kou-myou
明確
mei-kaku
明国
min*-koku
和尚
wa-jou
和尚
ka*-shou
和尚
o-shou
清浄
shou-jou
清浄
sei-jou
清規
shin*-gi
経文
kyou-mon
経済
kei-zai
看経
kan-kin*
起請
ki-shou*
請求
sei-kyuu
普請
fu-shin
頭上
zu-jou
先頭
sen-tou
饅頭
man-juu

หมายเหตุ : * เป็นเสียงที่ไม่จัดอยู่ในการออกเสียงตามคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (常用漢字 : jouyou kanji)

อ้างอิงจาก :
https://ja.wikipedia.org/wiki/%E6%BC%A2%E8%AA%9E
https://dictionary.goo.ne.jp/leaf/jn2/94170/m0u/字音/picture/0/

Webmaster
25 กรกฎาคม 2555

pageviews 1,968,711