สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

มารยาทในการใช้บันไดเลื่อนของชาวญี่ปุ่นที่กำลังเปลี่ยนไป

โดย Webmaster : อ่าน 44,704 ครั้ง

การใช้บันไดเลื่อนในอดีต จะเป็นการยืนจับราวบันได ไม่มีการเดิน ไม่ต้องยืนหลบชิดซ้ายหรือชิดขวา

แต่เมื่อชีวิตมีความเร่งรีบขึ้น ก็เริ่มมีการเดินขึ้นลงบันไดเลื่อน คนที่ยืนอยู่ข้างหน้า เมื่อเห็นว่ามีผู้เดินตามหลังมาด้วยอาการเร่งรีบ ก็มักยืนหลบไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้แซงผ่านไป

เมื่อจำนวนผู้ใช้บันไดเลื่อนมีมากขึ้น และต่างคนต่างก็อยากรีบเดิน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมสังคมขึ้นว่า การยืนบนบันไดเลื่อน ควรหลบไปยืนในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นทางซ้าย หรือทางขวา หรือแล้วแต่กรณีๆไป

คนญี่ปุ่นยืนชิดฝั่งไหนของบันไดเลื่อน

คนในเมืองโอซากา เกียวโต และจังหวัดรอบๆ จะยืนชิดขวา ซึ่งเข้าใจว่า เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดงาน Japan World Exposition ที่โอซากา เมื่อปี 1970 เพื่อให้ดูเป็นสากล เนื่องจากในช่วงการจัดงานดังกล่าว จะมีชาวต่างชาติเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวยุโรปและอเมริกาเหล่านั้น มักจะยืนชิดขวา และแซงทางซ้าย

สำหรับคนในกรุงโตเกียว และจังหวัดรอบๆ และจังหวัดส่วนใหญ่ในประเทศ จะยืนชิดซ้าย ซึ่งเป็นหลักการตามธรรมชาติ ของประเทศที่สัญจรทางด้านซ้าย เช่นเดียวกันกับการเดินแซงคน หรือขับรถหรือขี่จักรยานแซงคันหน้า ซึ่งจะแซงด้านขวา

ส่วนที่เมืองเซ็นได จังหวัดมิยางิ ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปกติมักจะยืนชิดซ้าย แต่หากเป็นสถานที่ซึ่งมีคนต่างถิ่นมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น สนามบิน หรือสถานีรถไฟประจำจังหวัด มักจะยืนฝั่งเดียวกับคนที่อยู่หัวแถว คือจะเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งๆไป

และจังหวัดที่ไม่มีธรรมเนียมการยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

การยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นเพียงธรรมเนียมทางสังคมของผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการบันไดเลื่อน เช่น สถานีรถไฟ หรือห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่น จะไม่มีการติดป้ายหรือประกาศให้ยืนชิดข้างใดข้างหนึ่งของบันไดเลื่อน

การติดป้ายหรือการประกาศให้ยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง จะมีเฉพาะ "ทางเลื่อน" เช่น ที่สนามบิน เป็นต้น

อุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลของสมาคมลิฟต์ญี่ปุ่น อุบัติเหตุจากการใช้บันไดเลื่อนในแต่ละปี มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ

อุบัติเหตุเหล่านี้ แม้จะไม่ได้พิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากการเดินบนบันไดเลื่อน แต่ก็เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก

บันไดเลื่อนมีไว้สำหรับยืน

เว็บไซต์ของสมาคมลิฟต์ญี่ปุ่น ระบุไว้ว่า บันไดเลื่อนถูกออกแบบไว้สำหรับการยืน แต่ไม่ควรยืนเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เสียสมดุลย์ และอาจเป็นสาเหตุให้ระบบการทำงานของบันไดเลื่อนเกิดความผิดปกติ

นอกจากนี้ การเดินหรือวิ่ง ก็เป็นการใช้บันไดเลื่อนที่ผิดวิธี เพราะแรงสั่นสะเทือนจากการเดินหรือวิ่ง อาจทำให้ระบบนิรภัยทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้บันไดหยุดกระทันหัน อาจกลายเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง ส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยของผู้อื่นอีกด้วย

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ คือ สถานีรถไฟ และห้างสรรพสินค้า ที่จะต้องสร้างความเข้าใจและค่านิยมที่ถูกต้องแก่ผู้ใช้บริการ

การยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการแสดงน้ำใจ หรือเป็นการถูกเอาเปรียบ

การยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อนเพื่อให้ผู้อื่นแซงผ่าน นอกจากจะเป็นการใช้บันไดเลื่อนที่ผิดวิธี ซึ่งอาจทำให้บันไดเลื่อนทำงานผิดพลาดหรือชำรุดเสียหายแล้ว ยังมีเรื่องความปลอดภัย และประเด็นทางสังคมที่ควรคำนึงถึงอีกด้วย คือ

  1. อุบัติเหตุการหกล้มจากการเดิน
    ไม่ว่าจะเป็นการสะดุดขาตนเอง การกระแทกผู้อื่น หรือสัมภาระเกี่ยวติดกัน ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเสียหลักหกล้ม ซึ่งจะได้รับอันตรายร้ายแรง และอาจทำให้คนที่อยู่ด้านล่าง พลอยติดร่างแห ได้รับอันตรายตามไปด้วย
  2. ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมเนียมไม่ได้ จะกลายเป็นจำเลยทางสังคม
    เช่น คนที่แขนซ้ายเข้าเฝือก ย่อมต้องยืนชิดขวา เพื่อใช้มือขวาจับราวบันได แต่หากสังคมนั้นมีธรรมเนียมให้ยืนชิดซ้าย คนผู้นั้นก็จะตกเป็นจำเลยทางสังคมไปโดยปริยาย
    คือนอกจากอาจถูกประณามด้วยวาจาหรือกริยาท่าทางแล้ว ยังอาจถูกดัน ถูกกระแทก จากคนทางด้านหลังๆ ที่คิดเพียงว่าตนเองมีสิทธิที่จะแซงผ่านด้านขวา โดยไม่เข้าใจสถานการณ์ว่า เหตุใดบุคคลผู้นั้นจึงจำเป็นต้องยืนด้านขวา
  3. ผู้ที่อ่อนแอกว่า จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
    การกำหนดให้ยืนข้างใดข้างหนึ่งบนบันไดเลื่อน จะทำให้เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้พิการ หรือผู้ที่ถือสัมภาระหนัก ซึ่งไม่สะดวกในการเดินขึ้นลงบันไดเลื่อน จำเป็นต้องยืนต่อแถวคิวยาวก่อนขึ้นหรือลงบันได เนื่องจากสังคมนั้นกำหนดให้ยืนบนบันไดเลื่อนได้เพียงข้างเดียว เพื่อเปิดทางอีกข้างหนึ่งไว้สำหรับคนที่แข็งแรง แต่มาทีหลัง ให้สามารถเดินหรือวิ่งแซงผ่านไปได้
    ธรรมเนียมเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เป็นการแสดงมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เป็นการเอารัดเอาเปรียบของผู้แข็งแรง โดยอ้างความเร่งด่วนของตนเอง
    เพราะแทนที่จะให้ผู้อ่อนแอ ซึ่งมาถึงก่อน สามารถขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ก่อนทั้งฝั่งซ้ายและขวา แต่กลับต้องให้ผู้อ่อนแอเหล่านั้น ทยอยเข้าแถวขึ้นลงทีละคน

การรณรงค์ไม่เดินบนบันไดเลื่อน

ในเดือนกรกฎาคม 2004 รถไฟใต้ดินในเมืองนาโงยา ได้ออกประกาศห้ามเดินบนบันไดเลื่อนเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่น พร้อมกับรณรงค์โดยการติดโปสเตอร์ในสถานี และแจกสติ๊กเกอร์แก่ผู้ใช้บริการ

หลังจากนั้น ในปี 2006 - 2008 รถไฟใต้ดินในเมืองโยโกฮามา ฟุคุโอกะ ซัปโปโร และโอซากา ก็ได้ประกาศห้ามเดินบนบันไดเลื่อน และรณรงค์ด้วยการติดโปสเตอร์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่สถานีที่เมืองฟุคุโอกะ จะมีการประกาศเตือนอยู่ตลอดเวลา

ส่วนรถไฟใต้ดินที่กรุงโตเกียว แม้จะยังไม่ออกประกาศสั่งห้าม แต่ก็เริ่มรณรงค์ด้วยการติดโปสเตอร์และแจกสติกเกอร์เพื่อขอให้ใช้ความระมัดระวัง เพราะแม้จะทราบดีว่าการเดินบนบันไดเลื่อนเป็นอันตราย แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่ต้องรีบเดินทาง ตลอดจนจำนวนผู้โดยสารที่มีปริมาณมหาศาลอีกด้วย

ในปี 2010 สมาคมลิฟต์ญี่ปุ่น และบริษัทผู้ประกอบการรถไฟ 25 แห่ง ได้ร่วมกันจัดเคมเปญจน์ติดต่อกันกว่า 40 วัน โดยรณรงค์ให้ยืนจับราวบันได เพื่อความปลอดภัยในการใช้บันไดเลื่อน โดยมีการติดโปสเตอร์ในสถานีรถไฟ และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์สำคัญๆ

ปัจจุบัน การสั่งห้ามเดินบนบันไดเลื่อนโดยเด็ดขาด เป็นไปได้ค่อนข้างยาก กระทรวงคมนาคมได้ออกมายอมรับว่า ไม่มีกฎระเบียบที่สามารถควบคุมเรื่องนี้โดยตรง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ คือ สถานีรถไฟ และห้างสรรพสินค้า ที่จะต้องร่วมรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้บันไดเลื่อนให้กับผู้ใช้บริการเสียใหม่

แต่แน่นอนว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมที่ใช้กันมายาวนานกว่า 40 ปี และความคิดเอารัดเอาเปรียบของผู้ที่อ้างความเร่งด่วน ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องขึ้นใหม่


คน 61% ตอบว่า เคยรู้สึก "อันตราย" เพราะถูกคนหรือกระเป๋ากระแทก

สังคมไทยจะเดินไปทางไหน

ก่อนหน้าที่จะมีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน คนไทยส่วนใหญ่เคยชินกับการยืนบนบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้า โดยไม่จำเป็นต้องรีบเดิน หรือยืนชิดไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

แต่ภายหลังจากที่รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน มีผู้ใช้บริการมากขึ้น และต่างคนต่างอ้างความจำเป็นเร่งด่วน ก็เริ่มเกิดธรรมเนียมการยืนชิดขอบบันไดเลื่อน ซึ่งยังถือว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย

หลังจากนี้ สังคมไทยจะสร้างธรรมเนียมค่านิยมในการใช้บันไดเลื่อนอย่างไร ก็คงขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแต่ละท่านเป็นสำคัญ

Webmaster
15 สิงหาคม 2555

ที่มา : ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก 日本エレベーター協会: สมาคมลิฟต์ญี่ปุ่น

pageviews 1,967,992