สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

Amida kuji การจับฉลากในสไตล์ของชาวญี่ปุ่น

โดย Webmaster : อ่าน 43,970 ครั้ง

Amida kuji เป็นวิธีการจับฉลากชนิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย Muromachi (คศ.1336-1573)

การจับฉลากดังกล่าว เดิมทีเป็นการลากเส้นตรงจากตรงกลาง ออกไปทางด้านนอกทุกทิศทุกทาง ดูคล้ายกับรัศมีของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่า amida ซึ่งหมายถึง amidabutsu (อมิตาภาพุทธ) และ kuji ซึ่งหมายถึง ใบเสี่ยงทายหรือฉลาก

Amida kuji ในอดีตใช้เล่นเพื่อการลงขัน โดยจะเขียนจำนวนเงินที่แตกต่างกันไว้ที่ปลายเส้นข้างหนึ่ง เมื่อผู้เล่นเลือกได้จำนวนเท่าใด ก็จะต้องจ่ายเงินจำนวนนั้น ลงขันเป็นกองกลาง เพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อของ แล้วเอามาหารแบ่งในจำนวนเท่าๆกัน

Amida kuji ในปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นการลากเส้นในแนวตั้ง เท่ากับจำนวนผู้เล่น และขีดเส้นในแนวนอนเป็นช่วงๆ ในลักษณะขั้นบันได

ซึ่งไม่ว่าจะขีดเส้นแนวนอนกี่เส้นก็ตาม ก็จะจับคู่ได้ในลักษณะ 1 : 1 เสมอ ... ช่างเป็นวิธีเล่นที่ล้ำลึกจริงๆ ^^

เนื่องจาก Amida kuji สามารถสร้างขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ และผู้เล่นทุกคนมีโอกาสได้ลุ้นไปพร้อมๆกันจนวินาทีสุดท้าย จึงยังคงเป็นวิธีที่นิยมใช้ สืบมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ใช้เพื่อการจับคู่ แบ่งทีม จัดลำดับในการทำกิจกรรม หรือเพื่อแจกของรางวัลต่างๆ และบ่อยครั้งจะใช้เล่นเพื่อหาผู้โชคร้ายที่จะต้องทำอะไรแทนเพื่อนๆคนอื่น เช่น เป็นคนไปซื้อของ หรือเป็นเวรทำความสะอาด เป็นต้น

วิธีการเล่น คือ คนหนึ่งจะเป็นคนสร้าง Amida kuji บนกระดาษ โดยการลากเส้นในแนวตั้ง เท่ากับจำนวนผู้เล่น และเขียนรางวัลไว้ที่ด้านล่าง แล้วพับส่วนนั้นไว้ไม่ให้มองเห็น

หลังจากนั้น ก็จะลากเส้นในแนวนอนจำนวนพอสมควร โดยจะให้ผู้เล่นคนอื่นช่วยลากเส้นด้วยก็ได้

เมื่อเตรียมเสร็จแล้ว ก็จะให้ผู้เล่นแต่ละคน เขียนชื่อของตนไว้ที่ด้านบนของเส้น และเมื่อเขียนชื่อครบทุกคนแล้ว จึงจะคลี่กระดาษส่วนที่เขียนรางวัลให้เห็น

ความน่าจะเป็นไปได้ (probability) ของแต่ละเส้น มีมากน้อยไม่เท่ากัน

กล่าวโดยรวมคือ หากมีผู้เล่นจำนวนมากๆ การเชื่อมโยงในแนวตั้ง จะมีโอกาสมากกว่าแนวที่อยู่ไกลออกไป

อาจเปรียบได้กับคนเมาเหล้า ที่่มีโอกาสจะเดินเซไปทางซ้าย หรือเซไปทางขวา ในอัตราที่เท่าๆกัน หากให้เดินกลางถนนกว้าง ก็ย่อมมีโอกาสเดินตามถนนไปได้เรื่อยๆจนสุดทาง มากกว่าที่จะเดินไปชนกำแพง

และหากเป็นเส้นที่อยู่ใกล้กับแนวขอบด้านข้างๆ ก็จะมีโอกาสเชื่อมโยงในแนวตั้งเพิ่มมากขึ้น

เปรียบเสมือนคนเมาเหล้า หากเริ่มออกเดินโดยชิดกับกำแพงด้านใดด้านหนึ่ง แม้ว่าระหว่างที่เดิน อาจจะชนกำแพงไปบ้าง แต่ก็มีโอกาสที่จะเดินเลาะแนวกำแพงไปได้เรื่อยๆ จนสุดทาง มากกว่าที่จะเดินข้ามถนนไปชนกำแพงอีกฝั่งหนึ่ง

การจับฉลากโดยการใช้ Amida kuji สะดวกรวดเร็ว และสนุกกว่าการม้วนฉลากใส่กล่อง และให้หยิบไปทีละคน จึงอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสม

Webmaster
28 พฤษภาคม 2555

pageviews 1,968,029