สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

เหตุผล 7 ข้อ ที่ชาวต่างชาติคิดว่าภาษาญี่ปุ่นยาก

โดย Webmaster : อ่าน 44,188 ครั้ง

ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ทั่วโลกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า การเรียนภาษาที่มีอักษรถึง 3 ประเภท และมีไวยากรณ์ที่ซับซ้อนเช่นภาษาญี่ปุ่นนี้ ย่อมมีความยากลำบากอย่างยิ่ง

ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา มีความรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยาก ด้วยเหตุผล 7 ประการ คือ

1. คันจิ

ชาวญี่ปุ่นเริ่มหัดเรียนคันจิมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น เมื่อเติบโตขึ้น แม้จะพบกับคันจิตัวใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็ยังพอจะคาดเดาความหมายและวิธีอ่านได้

แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว จะมีความรู้สึกว่า คันจิเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากอย่างยิ่ง ชาวต่างชาติที่แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 ปีแล้ว หากเจอคันจิตัวใหม่ๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ชื่อสถานที่ ชื่อคน ชื่อสัตวหรือพืช ก็แทบจะไม่สามารถคาดเดาความหมาย หรือวิธีอ่านได้เลย

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว คันจิเปรียบเสมือนอักษรภาพ ที่ต้องจำส่วนประกอบของคันจิที่แยกเป็นส่วนๆ (เรียกว่า bushu) และต้องจำความหมาย พร้อมกับจำลำดับการลากเส้นอีกด้วย จึงเป็นอักษรที่สร้างความลำบากในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

2. มีสำนวนที่แปลตรงๆไม่ได้

ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนที่ไม่สามารถแปลความหมายตรงๆ จากคำศัพท์นั้นๆได้ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น yoroshiku, onegaishimasu, osore irimasu, ojama shimasu, otsukaresama desu เป็นต้น ซึ่งหากแปลความหมายตามตัวอักษร ก็จะกลายเป็นความหมายที่ผิดเพี้ยนไป

ถึงแม้ว่าในตำราต่างๆ จะมีการอธิบายความหมาย และวิธีการใช้สำนวนเหล่านี้ไว้แล้วก็ตาม แต่หากไม่เคยสัมผัสการใช้ชีวิตจริงในญี่ปุ่น ก็จะเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจบริบทในการใช้สำนวนเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง

หรืออาจกล่าวได้ว่า จะต้องเคยใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น และเคยได้ยินได้เห็นชาวญี่ปุ่นใช้สำนวนเหล่านี้ในสถานกาณ์ต่างๆ มามากเพียงพอ จึงจะซึมทราบความหมายและบริบทในการใช้งานได้อย่างถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ii desu ซึ่งถึงแม้จะพูดด้วยโทนเสียงที่เหมือนกัน แต่จะแปลความหมายเป็นการ "ตอบตกลง" หรือ "ตอบปฏิเสธ" ก็ได้

จำเป็นต้องใช้การสังเกตุความในใจของฝ่ายตรงข้าม และพิจารณาสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้นประกอบกันไปด้วย จึงจะทำให้เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง

หรือแม้กระทั่งคำว่า doumo หรือคำว่า sumimasen เพียงคำเดียว ก็มีความหมายต่างๆเป็นจำนวนมาก ยากที่จะแปลตรงๆได้

3. คำยกย่อง

เรื่องที่ยากอย่างหนึ่งในการใช้ภาษาญี่ปุ่น คือการใช้คำสุภาพ คำยกย่อง และคำถ่อมตน

ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ก็มีสำนวนสุภาพเช่นเดียวกัน และโดยปกติแล้ว จะไม่มีคำยกย่องและถ่อมตน เหมือนกับในภาษาญี่ปุ่น

การใช้คำสุภาพ คำยกย่อง และคำถ่อมตน ให้ถูกต้องนั้น แม้แต่ชาวญี่ปุ่นเอง ก็ไม่สามารถพูดได้เองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เป็นเพิศษ

ยกตัวอย่างเช่น หากพูดคำว่า ikimasu ชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนก็จะเข้าใจ แต่หากเปลี่ยนเป็นคำว่า o ukagai itashimasu ซึ่งมีความหมายเดียวกัน ชาวต่างชาติก็จะฟังไม่เข้าใจ และถึงแม้จะทราบความหมาย แต่ก็จะไม่สามารถใช้ให้ถูกต้องกับสถานการณ์ได้

4. คำลงท้าย (gobi)

หากเปรียบเทียบกับโครงสร้างภาษาอังกฤษที่มีโครงสร้างไวยากรณ์ คือประธาน กริยา กรรม แล้ว ภาษาญี่ปุ่นจะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้คำลงท้ายในประโยค (เรียกว่า gobi) เช่น คำว่า yo, ne, sa ฯลฯ จะแปลความหมายได้ยาก และอาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามอุปนิสัยและความรู้สึกของผู้พูดในสถานการณ์นั้นๆด้วย จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่น การพูดคำว่า "เข้าใจแล้ว" หรือ "wakatteru" หากเติมคำคำลงท้ายที่แตกต่างกัน เช่น "wakatteru yo" หรือ "wakatteru kedo" หรือ "wakatteru mon" หรือ "wakatteru sa"ก็จะทำให้มีความหมายแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง

คำลงท้ายเหล่านี้ ไม่มีคำให้เปรียบเทียบกับภาษาอื่น ดังนั้น แม้จะศึกษาความหมายจากตำราแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องสัมผัสประสบการณ์จริงเป็นเวลานานพอสมควร จึงจะทำความเข้าใจบริบทในการใช้คำเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง

5. คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเอง

ภาษาญี่ปุ่นมีคำทับศัพท์จากภาษาต่างชาติเป็นจำนวนไม่น้อย

แต่มีบ่อยครั้งที่เป็นคำศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเอง โดยมีความหมายแตกต่างไปจากความหมายเดิม เช่น gasolin sutando (ปั๊มน้ำมัน) , american koohii (กาแฟรสอ่อน) หรือ bijinesu hoteru (โรงแรมราคาถูก) เป็นต้น

จึงทำให้ชาวต่างชาติสับสนว่า คำทับศัพท์คำใดมีความหมายเหมือนเดิม และคำทับศัพท์คำใดมีความใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่ และเปลี่ยนความหมายไปเป็นอย่างไร

6. คำลักษณะนาม

คำลักษณะนามในภาษาญี่ปุ่น มีเป็นจำนวนมาก และสลับซับซ้อนมาก เช่น กระต่าย จะใช้คำลักษณะนามว่า "wa" เช่นเดียวกับนก บะหมี่ซารุโซบะใช้คำลักษณะนามว่า "mai" เช่นเดียวกับกระดาษ ไข่ปลา 1 พวง ใช้คำลักษณะนามว่า "hara" ซึ่งหมายถึงท้องหรือพุง และกะหล่ำปลีใช้คำลักษณะนามว่า "tama" ซึ่งเป็นคำนามที่แปลว่า "ลูกกลมๆ" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคำเลียนเสียง คำเลียนอาการ เช่น เสียงน้ำไหล จะมีคำแสดงระดับเสียงของการไหลค่อยหรือไหลแรง หรืออาการสั่นไหวโคลงเคลง ก็จะมีคำแสดงระดับอาการโคลงเคลงว่ามากหรือน้อยเพียงใด เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และแปลให้เข้าใจได้ยาก ดังนั้น นอกจาการท่องจำแล้ว ยังต้องอาศัยการจินตนาการเข้าช่วยอีกด้วย

7. คำช่วย

ในการเรียนภาษาญี่ปุ่น การใช้คำช่วย ถือเป็นด่านแรก ที่มีความยากเป็นอันดับต้นๆ

การจะศึกษาจนเข้าใจความแตกต่างของคำว่า wa และ ga หรือความแตกต่างของคำว่า ni กับ de จะต้องใช้เวลาที่นานพอสมควรทีเดียว

ซึ่งความแตกต่างของคำช่วยเหล่านี้ บางครั้งแม้คนญี่ปุ่นเอง ก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการตามความเคยชินมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่ได้สนใจ หรือเห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความแตกต่างด้านไวยากรณ์อย่างทะลุปรุโปร่ง

อ้างอิงจาก : www.madameriri.com

ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาที่มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง เป็นภาษาที่ไม่สามารถตีความตามตัวอักษรหรือคำพูด แต่เพียงอย่างเดียว

การสื่อสารภาษาญี่ปุ่นให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน จึงไม่ใช่เพียงแต่การศึกษาไวยากรณ์ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่่ต้องมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และอุดมคติในการดำรงชีวิตและการทำงานของชาวญี่ปุ่น อีกทั้งจะต้องเข้าใจอุปนิสัย และใส่ใจต่ออากัปกริยา สีหน้าท่าทาง ของคู่สนทนา ในลักษณะเอาใจเขา มาใส่ใจเรา จึงจะสามารถสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

ภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารได้ครบถ้วนแต่เพียงตัวหนังสือ ดังเช่นภาษาญี่ปุ่นนี้ หากจะมองว่าเป็นข้อเสียของภาษา ก็สามารถมองได้ แต่หากจะมองว่าเป็นข้อดีของภาษา ซึ่งมีการหลอมรวมสิ่งต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ก็ย่อมสามารถมองได้เช่นกัน

Webmaster
26 พฤษภาคม 2555

pageviews 1,967,989