สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

การจับปลาด้วยนกกาน้ำ (鵜飼い : ukai)

โดย Webmaster : อ่าน 43,975 ครั้ง

นกกาน้ำ (鵜 : u) เป็นนกที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำ มีขนสีดำมัน จงอยปากเรียวแหลม กินปลาเป็นอาหาร โดยดำน้ำลงไปกิน แล้วขึ้นมากลืนบนผิวน้ำ

การจับปลาด้วยนกกาน้ำ (鵜飼い : ukai) มีมาแต่สมัยโบราณในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

บันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นในสมัยนารา ในปี คศ.720 บันทึกไว้ว่า การจับปลาด้วยนกกาน้ำ มีขึ้นตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ Jinmu คือเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล

การจับปลาด้วยนกกาน้ำ มี 2 วิธี คือการเดินลุยลงไปในลำธาร ซึ่งจะควบคุมนกกาน้ำได้เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น และวิธีการลอยเรือในแม่น้ำ ซึ่งจะทำให้ควบคุมนกกาน้ำได้มากขึ้น คือประมาณ 5-10 ตัว

ในสมัยโบราณ การจับปลาด้วยนกกาน้ำ ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ชาวประมงที่ใช้วิธีลอยเรือในแม่น้ำ อาจจะจับปลาได้ถึงวันละ 100 ตัวทีเดียว

แต่หลังจากที่มีการพัฒนาเครื่องมือจับปลาชนิดต่างๆ ที่มีประสิทธภาพมากกว่า ชาวประมงที่ยึดอาชีพจับปลาด้วยนกกาน้ำ ก็มีจำนวนลดลง

ปลาที่จับด้วยนกกาน้ำ คือ ปลา ayu (鮎) หรือปลา Sweetfish เป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อย

การจับปลาด้วยนกกาน้ำ จะกระทำในเวลากลางคืน ยกเว้นในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง

ชาวประมงจะจุดโคมไฟไว้ที่หัวเรือ ซึ่งเมื่อปลา ayu ตกใจแสงไฟ ก็จะว่ายแฉลบไปมา ทำให้เกล็ดปลาสะท้อนกับแสงไฟ และจะถูกนกกาน้ำจับกินโดยง่าย

ชาวประมงจะผูกเชือกห่วงคล้องที่คอของนกกาน้ำเอาไว้ โดยเชือกห่วงนี้จะมีขนาดแตกต่างกันตามที่ต้องการ ปลา ayu ที่มีขนาดเล็กกว่าเชือกห่วง ก็จะหลุดเข้าลำคอ กลายเป็นอาหารของนกกาน้ำ

ส่วนปลาตัวที่มีขนาดใหญ่กว่าเชือกห่วง ก็จะติดคาอยู่ที่ลำคอ ซึ่งชาวประมงจะทำให้นกกาน้ำสำรอกปลานั้นออกมา

ปลา ayu ที่จับโดยนกกาน้ำ จะไม่มีรอยบาดแผลใดๆ จึงจัดเป็นของชั้นดี ราคาแพง และจะถูกส่งไปถวายให้กับราชวัง หรือบรรดาขุนนางต่างๆ ที่ปกครองเขตแดนนั้นๆ

Oda Nobunaga ได้มอบฐานันดร ให้กับชาวประมงที่ยึดอาชีพนี้ว่า ujou (鵜匠) หรือครูฝึกนกกาน้ำ มีสถานะสูงเช่นเดียวกับ takajou (鷹匠) หรือครูฝึกเหยี่ยว เลยทีเดียว

นอกจากนี้ บรรดาไดเมียวต่างๆ ก็ถือเป็นหน้าเป็นตา ที่จะมีปลา ayu ชั้นเลิศมารับประทาน จึงให้การสนับสนุนแก่ครูฝึกนกกาน้ำ ที่อยู่ในอาณาบริเวณของตนเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน ครูฝึกนกกาน้ำจำนวน 9 คน ที่แม่น้ำ nagaragawa จังหวัด gifu มีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักพระราชวัง (หรือเรียกว่า ครูฝึกนกกาน้ำทรงเลี้ยง) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะตกทอดต่อไปยังผู้สืบสกุล

ครูฝึกนกกาน้ำทรงเลี้ยงทั้ง 9 คนนี้ จะใช้นกกาน้ำคนละ 12 ตัว ในการจับปลา ayu

เมื่อถึงฤดูกาลจับปลา ayu ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่11 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปี ครูฝึกนกกาน้ำทรงเลี้ยง จะออกจับปลา ayu รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง เพื่อนำเป็นพระกระยาหารในพระราชวัง และสักการะต่อศาลเจ้า Meiji และศาลเจ้า Ise

นอกเหนือจากครูนกกาน้ำทรงเลี้ยงนี้แล้ว ก็ยังมีผู้ยึดอาชีพจับปลาด้วยนกกาน้ำอยู่ในแม่น้ำสายอื่นๆ อีกประมาณ 12 สาย โดยมีรายได้จากทั้งการประมง และการท่องเที่ยว (การแสดง) ควบคู่กันไป

Webmaster
11 พฤษภาคม 2555

pageviews 1,967,969