สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

กฎหมายเมาแล้วขับ : แค่นั่งไปด้วยก็ติดคุก 3 ปี

โดย Webmaster : อ่าน 44,898 ครั้ง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

คนที่เดินข้ามถนนบนทางม้าลาย และจุดตัดตามปากซอย แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังยานพาหนะใดๆ มากนัก

ทุกแห่งที่มีทางม้าลาย และทุกแห่งที่มีจุดตัด ซึ่งไม่มีสัญญาณไฟจราจร จะมีป้ายสัญญาณจราจรสีแดง มีเส้นหยุด และตัวอักษรสีขาวบนพื้นถนน เขียนว่า 止まれ (tomare : จงหยุด) เพื่อให้รถจากทางโทเป็นฝ่ายหยุดเสมอ ซึ่งจะต้องเป็นการหยุดสนิท ไม่ใช่แค่ชะลอหรือลดความเร็ว

ที่จังหวัดกุมมะ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ในย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่ง มีถนนตัดกันประหนึ่งดั่งเป็นก้างปลา

ถนนเส้นทางโทสาย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 400 ร้อยเมตรนี้ มีจุดตัดกับถนนเส้นทางสายเอก มากถึง 11 จุด

ทุกจุดตัด จะมีป้ายสัญญาณให้หยุดรถ

พื้นถนนสายนี้ จึงเต็มไปด้วยสัญญาณเส้นหยุดรถ และตัวอักษรสีขาวสั่งหยุดรถ ซึ่งเป็นภาพที่หาดูไม่ง่ายนัก

นั่นเท่ากับว่า เมื่อขับรถผ่านบ้านไปได้ 2 หลัง ก็จะต้องหยุดรถครั้งหนึ่ง

ตรวจสอบซ้ายขวา แล้วจึงขับไปอีก 2 หลัง ก็ต้องหยุดรถอีก สลับเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 11 ครั้ง จึงจะสุดปลายทาง เพื่อออกถนนหลวงอีกฟากหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่มีใครอยากขับผ่านถนนเส้นนี้แน่ๆ

การไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณ มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม และเสียค่าปรับ 5,000-9,000 เยน (1,800-3,200 บาท) ตามขนาดของรถ ตั้งแต่จักรยานยนต์ไปจนถึงรถบรรทุก

หากคะแนนที่ถูกหักสะสมย้อนหลัง 3 ปี รวมกันตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป จะถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา 30-180 วัน

เว้นแต่หากเป็นการสะสมจากกระทำความผิดอันไม่รุนแรง (1-3 แต้ม) อาจได้รับผ่อนผันให้เข้ารับการอบรมผู้ปฏิบัติผิดกฎจราจรแทนการยึดใบขับขี่

กฎหมายการสัญจรบนท้องถนนของประเทศญี่ปุ่น เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้สัญจรทางเท้าเป็นอย่างมาก โดยกำหนดความผิดของผู้ขับขี่ ที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้เดินเท้าไว้หลายประการ อาทิเช่น

ทั้งหมดนี้มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม และปรับ 5,000-9,000 เยน (1,800-3,200 บาท) เช่นกัน

ยกเว้นความผิดฐานขัดขวางการข้ามถนน จะมีโทษปรับหนักกว่า คือ 6,000-12,000 เยน (2,150-4,300 บาท)

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม คนเดินถนนถึงได้เดินกันโดยแทบจะไม่สนใจยวดยานพาหนะเลย เพราะที่ญี่ปุ่น คนเดินถนนคือพระเจ้า ซึ่งรถจะต้องเป็นฝ่ายหยุดให้เสมอ

นอกจากความปลอดภัยสำหรับผู้เดินถนนแล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนน และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในปี คศ.2011 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ถือครองใบขับขี่ประมาณ 81 ล้านคน มียานพาหนะที่จดทะเบียนประมาณ 79 ล้านคัน

อุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดขึ้นทั้งสิ้น 690,907 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 852,094 ราย ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ทั้งจำนวนอุบัติเหตุ และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี คศ.2011 มีจำนวน 4,611 ราย (เฉลี่ยวันละ 12.6 ราย) ซึ่งก็ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 11 เช่นกัน

ระหว่างปี คศ.2001-2010 อุบัติเหตุจากการ เมาแล้วขับ ลดลงจาก 25,400 ราย เหลือเพียง 5,553 ราย หรือลดลงถึง 78.1% ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ ก็ลดลงจาก 1,191 ราย เหลือเพียง 287 ราย หรือลดลงถึง 75.9% เช่นกัน

ในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี พศ. 2552 เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก 84,806 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 61,996 ราย และมีผู้เสียชีวิต 10,742 ราย เฉลี่ยวันละ 29.4 ราย [ที่มา : สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ]

ถ้าข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกต้อง เท่ากับว่าประเทศไทยมีอุบัติเหตุและมีผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน น้อยกว่าในญี่ปุ่นถึง 10 กว่าเท่า ! เอ้า .. ไม่ว่ากัน

แต่ที่แน่ๆ คือ ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย มีมากกว่าในญี่ปุ่น 2.3 เท่า

ในปี คศ.2011 อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 3 คน เกิดขึ้นทั้งสิ้น 16 ครั้ง

ครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2011 เวลา 7:45 น ที่จังหวัดโทจิงิ เมื่อรถเครนขนาด 12 ตัน วิ่งข้ามเลนไปยังทางเดินเท้าฝั่งตรงข้าม พุ่งเข้าชนเด็กนักเรียนประถมที่กำลังเดินรวมกลุ่มไปโรงเรียนประมาณ 20-30 คน ทำให้มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต 6 คน

ผู้ขับขี่รถเครน เป็นชายอายุ 26 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคลมชักหรือลมบ้าหมู ก่อนหน้านี้เคยก่ออุบัติเหตุโดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 ครั้ง และเคยก่อเหตุขับรถชนเด็กชายวัย 9 ขวบ ได้รับบาดเจ็บขาหัก เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น และถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยให้รอลงอาญา 4 ปี

เช้าวันที่เกิด ผู้ขับขี่รถเครนดังกล่าว เล่นอินเตอร์เน็ตจนถึงเวลาประมาณตี 1 เข้านอนประมาณตี 2 และตื่นนอนเวลาตี 5 ครึ่ง และก่ออุบัติเหตุในเวลา 7:45 น.

คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อเดือนธันวาคม คศ.2011 ให้จำคุก 7 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดของความผิดฐานขับขี่ยานพาหนะโดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และคดีถึงที่สุดโดยจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์

กฎหมายเมาแล้วขับ : แค่นั่งไปด้วยก็ติดคุก 3 ปี

สาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ นอกจากความมีวินัยของผู้ขับขี่ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคของเจ้าพนักงานแล้ว ตัวบทกฎหมายเองยังมีความเข้มงวดอย่างยิ่งอีกด้วย

กฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 ของ พรบ การจราจร ของญี่ปุ่น ถูกยกร่างขึ้นใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน คศ.2007 เป็นต้นมา สรุปสาระสำคัญ คือ

  • วรรคหนึ่ง
    ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
  • วรรคสอง
    ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง
  • วรรคสาม
    ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุรา แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง
  • วรรคสี่
    ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามวรรคหนึ่งด้วย

บทลงโทษ

  • ผู้ขับขี่
    • เมาแล้วขับ
      • พิจารณาตามสภาพ ว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ
      • โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท)
      • หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี
      • หากก่ออุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี
        หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว
    • มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
      • มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.15 mg ต่อลมหายใจ 1 ลิตร
      • โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท)
      • หักคะแนน 13-25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี
  • ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ
    • มีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่
  • ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย
    • กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ
      • โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 เยน)
    • กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
      • โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (108,000 เยน)

ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีที่จอดรถให้บริการ และทราบได้ชัดเจนว่า ลูกค้าขับรถมาที่ร้าน ร้านอาหารนี้จะต้องไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ อีกทั้งผู้ที่นั่งรถมาด้วยก็ต้องไม่สนับสนุนให้ดื่ม และจะต้องไม่นั่งรถกลับไปด้วย มิฉะนั้น ทุกฝ่ายจะมีความผิดทั้งหมด

ประเทศไทยเองก็เพิ่งมีการปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการเมาแล้วขับ โดยเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 (ฉบับที่ 7 พ.ศ.2550) ซึ่งกำหนดนิยามการเมาแล้วขับ คือ มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 มิลลิกรัม ในเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือเรียกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) และเพิ่มโทษเป็น

แต่ถึงแม้จะเพิ่มโทษขึ้นแล้วก็ตาม ... แต่ขอโทษที ...

ตามกฎหมายไทย คนที่เมาแล้วขับรถไปชนผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บ จะได้รับโทษน้อยกว่า คนที่โดยสารมาในรถ ของผู้ที่เมาแล้วขับ โดยที่ยังไม่ต้องก่ออุบัติเหตุ ตามกฏหมายญี่ปุ่นเสียอีก

ตัวอย่างการรณรงค์อย่างเข้มข้นในการลดอุบัติเหตุจราจร และการลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ มีให้เห็นอยู่ทั่วโลก

ประเทศไทยอยากจะทำเมื่อไร ก็ย่อมทำได้อยู่แล้ว

การให้ตำรวจจราจรหญิงมาเต้นกลางแยกราชประสงค์ ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ทางความคิด แต่ที่เหนือไปกว่านั้น กฎหมายจะต้องมีความเข้มงวดและศักดิ์สิทธ์ด้วย

ความสุขขั้นพื้นฐานประการหนึ่งของครอบครัว คือ การที่บุคคลที่เกิดทีหลัง ย่อมควรต้องเสียชีวิตทีหลัง ตามลำดับ

ดังนั้น จึงจะต้องไม่ยอมให้อุบัติเหตุบนท้องถนน และคนที่เมาแล้วขับ มาพรากความสุขนี้ไปจากครอบครัวของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป

Webmaster
9 เมษายน 2555

pageviews 1,967,964