สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

ปลาดุกยักษ์กับแผ่นดินไหว : ความเชื่อหรือความจริง

โดย Webmaster : อ่าน 44,840 ครั้ง

หมู่เกาะญี่ปุ่นตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่ตลอดทั้งปี

ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ มีความเชื่อสืบทอดกันมาแต่โบราณว่า อาการดิ้นพล่านของปลาดุก เป็นสัญญาณเตือนว่าจะเกิดแผ่นดินไหว

ชาวญี่ปุ่นแต่ครั้งโบราณมีความเชื่อว่าในใต้พิภพนี้มีปลาดุกยักษ์อาศัยอยู่ เมื่อปลาดุกดิ้นครั้งใด ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว

ความเชื่อนี้หาได้เป็นสิ่งที่เลื่อนลอยไม่

ในปี คศ.2011 หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงทางชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น คณะกรรมาธิการวุฒิสภาตรวจสอบการบริหารราชการ ได้เชิญศาสดาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยโกเบ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปลาดุกกับแผ่นดินไหว

ศาสดาจารย์ท่านนั้นได้ให้ข้อมูลว่า ปลาดุกเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อกระแสไฟฟ้าและความสั่นสะเทือน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะรับรู้ถึงการเกิดแผ่นดินไหวก่อนที่มนุษย์จะรู้สึก

แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า อาการดิ้นพล่านของปลาดุก กับปฏิกริยาที่ไวต่อกระแสไฟฟ้าและการสั่นสะเทือนนี้ จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้าหรือไม่อย่างไร

สัตว์หลายชนิดมีสัญชาติญาณและประสาทสัมผัส ที่ไวต่อการรับรู้ถึงความผิดปกติของภัยธรรมชาติ เช่น การที่มดขนไข่หนี ก่อนที่จะเกิดฝนตกน้ำท่วม เป็นต้น

ภัยแผ่นดินไหวเองก็เช่นกัน เรามักได้จะยินข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมประหลาดๆของสัตว์ ในยามก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ที่จังหวัด Ibaragi ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว มีศาลเจ้าแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นในสมัย 660 ปีก่อนคริสตกาล ศาลเจ้าแห่งนี้ชื่อว่า Kashima (鹿島神宮 : Kashima jinguu) เป็นสถานที่บูชาเทพเจ้า Kashima เพื่อขอให้พิทักษ์ภัยจากแผ่นดินไหว โดยการใช้หินขนาดใหญ่เรียกว่า Kaname ishi (要石) กดทับปลาดุกยักษ์นั้นไว้

ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ จะมีแท่งหินฝังลึกลงไปในดิน โดยเทพเจ้าจะใช้หินนี้กดทับหัวและหางของปลาดุกยักษ์ใต้พิภพเอาไว้ ไม่ให้เคลื่อนไหว

แต่ยามใดที่เทพเจ้าชะล่าใจ หรือต้องไปเข้าเฝ้าเทพเจ้าองค์อื่น หินที่กดทับไว้ก็จะหลวม ทำให้ปลาดุกยักษ์ขยับตัว และเกิดแผ่นดินไหวขึ้น

หินส่วนที่โผล่ขึ้นมาบนพื้นดินมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินนั้น เล่ากันว่ามีขนาดใหญ่โตมาก ไม่มีทางที่จะขุดออกมาได้โดยเด็ดขาด ถึงขนาดที่ Tokugawa Mitsukuni เจ้าเมืองมิโตะ ได้สั่งให้คนขุดหินนั้นขึ้นมา โดยใช้เวลาถึง 7 วัน 7 คืน ก็ยังไม่สามารถขุดถึงโคนหินได้

ความเชื่อเรื่องปลาดุกยักษ์กับแผ่นดินไหว จะเริ่มขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกไว้โดยแน่ชัด แต่เชื่อกันว่า น่าจะมีมาแต่โบราณแล้ว เพียงแต่เริ่มเชื่อถือมากขึ้นในช่วงต้นของสมัยเอโดะ (คศ. 1603-1867)

เนื่องจากทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว เมืองขนาดใหญ่ เช่น เอโดะ (คือโตเกียวในปัจจุบัน) จะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จึงนำเรื่องนี้มาเล่าขานสืบต่อ จนกลายเป็นความเชื่อฝังใจในปลายสมัยเอโดะ และเป็นตำนานเล่าขานสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ในปี คศ.1855 เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว Ansei Edo ซึ่งมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 4,700 - 11,000 คน ได้มีการพิมพ์ภาพสีเป็นรูปปลาดุกยักษ์ โดยมีหินขนาดใหญ่ คือ Kaname ishi กดทับเพื่อสะกดแผ่นดินไหวไว้ ออกมาจำหน่ายจ่ายแจกเป็นจำนวนมาก จึงยิ่งทำให้ความเชื่อนี้แพร่สะพัดมากยิ่งขึ้น

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง คือ บันทึกประสบการณ์อันเซ (安政見聞誌 : Ansei kenbunshi) ซึ่งเขียนขึ้นในปีที่ 3 ของสมัยอันเซ (คศ.1856) คือหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว Ansei Edo ผ่านไป 1 ปี

ในบันทึกนี้ได้กล่าวไว้ว่า

"ชายผู้หนึ่งนามว่า Shinozaki เป็นคนที่ชอบจับปลา ทุกเย็นจะต้องไปจับปลาที่แม่น้ำอยู่เสมอ

ตอนค่ำวันที่ 2 (ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว) ชายผู้นี้ได้ออกไปจับปลาไหลโดยเครื่องมือที่เตรียมไว้ แต่ปรากฏว่าคืนนี้ปลาดุกดิ้นพล่านเป็นการใหญ่ ทำให้ปลาไหลหนีไปหมด จับไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว จึงตกปลาดุกขึ้นมาได้ 3 ตัว และรู้สึกประหลาดใจว่าคืนนี้เกิดอะไรขึ้น ทำไมปลาดุกจึงได้ดิ้นพล่านดั่งนี้

ชายดังกล่าวนึกขึ้นได้ว่า เคยได้ยินว่าการที่ปลาดุกดิ้นพล่าน เป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งถ้าเกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก คงจะลำบากเป็นแน่แท้ จึงรีบกลับบ้าน และขนเครื่องเรือนทรัพย์สมบัติต่างๆออกมาไว้ข้างนอกบ้าน

ข้างฝ่ายภรรยาเห็นเช่นนั้น ก็หัวเราะเพราะเห็นเป็นเรื่องขบขัน แต่หลังจากนั้น ก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนบ้านพังราบหมด แต่ทรัพย์สินที่ขนมาไว้ข้างนอกปลอดภัย

ฝ่ายเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ข้างๆ ก็เป็นคนที่ชอบจับปลา คืนนั้นก็ออกไปหาปลาที่แม่น้ำ และเห็นปลาดุกดิ้นพล่านเช่นกัน แต่ไม่ได้ใส่ใจ ยังคงหาปลาต่อไป จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหว จึงรีบกลับบ้านด้วยความตกใจ แต่พบว่าทั้งบ้านและโกดังพังพินาศลงหมดแล้ว สูญเสียทรัพย์สมบัติทุกอย่างไปหมด..."

ซึ่งถ้าบันทึกนี้ เป็นความจริง ปรากฏการณ์นี้ก็ถือเป็นการพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้หลายชั่วโมงเลยทีเดียว

ในปี คศ.1923 หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว Kantou ซึ่งเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 100,000 คน

มหาวิทยาลัย Touhoku ได้ทำการทดลองความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับปลาดุก และได้สรุปผลวิจัยว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวประมาณไม่กี่ชั่วโมงล่วงหน้า จะเกิดสัญญาณผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของปลาดุกประมาณ 80%

ในปี คศ.1976-1992 สถานีทดลองทางทะเลของกรุงโตเกียว ก็ได้ทำการค้นคว้าวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับปลาดุก รวมระยะเวลาทั้งสิ้นเป็นเวลา 16 ปี โดยติดตั้งระบบตรวจสอบอาการผิดปกติของปลาดุกตลอด 24 ชั่วโมง

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ระหว่างปี คศ.1978-1992 เกิดแผ่นดินไหวซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนที่กรุงโตเกียวได้สูงกว่าระดับ 3 รวมทั้งสิ้น 91 ครั้ง แต่มี 4 ครั้งที่ไม่ได้ทำการทดลอง

ผลการทดลอง 87 ครั้ง พบว่าในจำนวนนี้ ปลาดุกมีอาการแสดงความผิดปกติอย่างชัดเจนล่วงหน้าภายในเวลาไม่เกิน 10 วันก่อนการเกิดแผ่นดินไหว เป็นจำนวน 27 ครั้ง หรือเท่ากับ 31%

จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ปลาดุก เป็นสัตว์ที่มีความไวในการรับรู้กระแสไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง โดยจะรับรู้กระแสไฟฟ้าได้ไวกว่ามนุษย์หรือปลาคาร์ปถึง 1 ล้านเท่า

หากโยนถ่านไฟฟ้าลงไปในทะเลสาบ เพียง 1 ก้อน ปลาดุกที่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร ก็สามารถรับรู้ถึงกระแสไฟฟ้าจากถ่านไฟฉายก้อนนั้นได้

การเกิดแผ่นดินไหวหรือการขยับเลื่อนของเปลือกโลก ย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนั้น การที่ปลาดุกจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าใต้พื้นดิน และแสดงอาการดิ้นพล่านผิดปกติ จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

แต่ทว่าการแสดงอาการผิดปกติของปลาดุก ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าใต้พื้นดินเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆอีกมาก จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เหตุการณ์ทั้ง 2 สิ่งนี้ จะมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด

แต่ขณะเดียวกัน ก็คงไม่สามารถปฏิเสธความเชื่อแต่ครั้งโบราณ เรื่องปลาดุกกับแผ่นดินไหว ของชาวญี่ปุ่นได้เช่นเดียวกัน

ในวันครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 19,000 คนนี้

ขอแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตและสูญหาย ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบภัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้นคว้าวิจัยการเตือนภัยจากการเกิดแผ่นดินไหว จะมีความรุดหน้าในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ จากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ซึนามิได้ตลอดไป

ท้ายที่สุดนี้ ขอนำข้อมูลสถิติแผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศญี่ปุ่นในรอบ 200 ปี ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตเกินกว่า 1,000 คน จำนวนทั้งหมด 16 ครั้ง รวมยอดผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน เพื่อเตือนใจว่าภัยพิบัติจากธรรมชาติ ดั่งเช่นแผ่นดินไหว เป็นภัยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยมิอาจหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้

ประเทศไทย แม้จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่าญี่ปุ่นมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดอุทกภัยดังเช่นในปีที่ผ่านมาได้อีก พวกเราคนไทยจึงควรร่วมมือกันสร้างสังคมที่เอื้ออาทร ไม่เอารัดเอาเปรียบ ดั่งเช่นที่ได้เห็นตัวอย่างจากสังคมญี่ปุ่นในยามวิกฤติเช่นในครั้งที่ผ่านมา

Webmaster
11 มีนาคม 2555

- - - - - - - - - - - -

แผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่น ในรอบ 200 ปี

pageviews 1,967,963