สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

"ตำนานลับ" ของเป็ดแมนดาริน

โดย Webmaster : อ่าน 45,702 ครั้ง

เมื่อกล่าวถึง "เป็ดแมนดาริน" คนที่ไม่รู้จัก ก็อาจจะถามว่า "อร่อยไหม .. เหมือนเป็ดปักกิ่งหรือเปล่า .."

แต่สำหรับคนที่รู้จัก ย่อมทราบดีว่า เป็ดแมนดารินเป็นนกน้ำที่มีสีสรรสวยงามที่สุดในบรรดานกน้ำด้วยกัน

ในประเทศจีน เป็ดแมนดาริน เป็นสัญลักษณ์แทนความรักและความซื่อสัตย์ระหว่างหญิงและชาย คนจีนส่วนใหญ่จึงนิยมมอบภาพวาดหรือรูปปั้นคู่ของเป็ดแมนดาริน ให้แก่บุคคลที่รัก ตลอดจนนิยมนำไปประดับตามบ้านเรือน เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวัตถุมงคลที่นำความรักและความซื่อสัตย์มาสู่ครอบครัว

ในประเทศเกาหลีใต้ รูปปั้นหรือรูปแกะสลักเป็ดแมนดาริน ก็ถือเป็นของขวัญสำหรับมอบให้แก่คู่บ่าวสาวในพิธีวิวาห์

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น เป็ดแมนดารินก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักเช่นเดียวกัน โดยจะเรียกสามีภรรยาที่มีความรักใคร่สนิทสนม และมักทำกิจกรรมเคียงข้างกันอยู่ตลอดเวลา ว่า Oshidori fuufu (おしどり夫婦) หรือ คู่สามีภรรยาเป็ดแมนดาริน เนื่องจากเรามักจะมองเห็นภาพเป็ดตัวผู้ที่มีสีสวยสดงดงาม อยู่เคียงข้างเป็ดตัวเมียที่มีสีทึมๆ ตลอดเวลานั่นเอง

เป็ดแมนดาริน เป็นสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในสุภาษิตจีนและญี่ปุ่น ตั้งแต่ครั้งโบราณ ในสมัยที่ประเทศจีนยังอยู่ในช่วงการทำศึกแย่งชิงแผ่นดิน ในปี พศ. 140 โดยมีเรื่องเล่าว่า

Kou Ou (康王) ประมุขแห่งแคว้น Sou (宋) ได้พรากสาวงาม นามว่า Ka Shi (何氏) ไปจากสามีชื่อ Kan Hyou (韓憑) ผู้ซึ่งเป็นบริวารรับใช้ ทำให้ Kan Hyou ผู้เป็นสามี โศกเศร้าจนต้องฆ่าตัวตาย

ข้างฝ่ายภรรยา คือ Ka Shi เมื่อทราบข่าวการตายของสามี ก็พลอยฆ่าตัวตายตามไปด้วย โดยทิ้งจดหมายไว้ มีใจความว่า "ขอให้ฝังศพของตนไว้ร่วมกับสามี" สร้างความโกรธแค้นให้กับ Kou Ou ผู้เป็นประมุขแคว้นเป็นอย่างยิ่ง

Kou Ou จึงสั่งให้ฝังร่างของทั้ง 2 คน แยกกันไว้ที่เนินดินคนละแห่ง ตรงข้ามกัน โดยหันหน้าเข้าหากัน พร้อมกับประกาศว่า "ถ้าเจ้าทั้ง 2 คน แม้ตายไปแล้ว แต่หากยังรักกัน และยังอยากอยู่ร่วมกันอีก ก็จงทำให้เนินดินทั้งสองนี้ รวมกันเป็นอันเดียวเอาเอง"

เพียงชั่วข้ามคืนเดียว ต้น Catalpa ก็งอกออกมาจากเนินดินทั้ง 2 ฝั่ง และเมื่อผ่านไปได้ 10 วัน กิ่งของต้นไม้ทั้ง 2 ต้น ก็พันเข้าด้วยกัน ส่วนรากและลำต้น ก็ตระหวัดรัดเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นต้นเดียวกัน

จากนั้นก็มีนกน้ำคู่หนึ่ง บินขึ้นไปทำรังบนกิ่งของต้น Catalpa และส่งเสียงร้องอย่างโศกเศร้าตลอดทั้งวัน นกน้ำคู่นั้น ก็คือ เป็ดแมนดาริน

ชาวเมืองนคร Sou จึงต่างเชื่อกันว่า เป็ดแมนดารินทั้ง 2 ตัวนั้น ก็คือ Kan Hyou และ Ka Shi นั่นเอง

ความรักของ Ka Shi และ Kan Hyou จึงกลายเป็นที่มาของสุภาษิตจีน และสืบทอดไปถึงญี่ปุ่นเป็นสำนวนว่า 鴛鴦の契り (En ou no chigiri) หรือ คำมั่นสัญญาของคู่เป็ดแมนดาริน ซึ่งมีความหมายถึงคำมั่นสัญญาของคู่รัก ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างซื่อสัตย์และจะไม่พรากจากกัน โดย 鴛 (En) หมายถึง เป็ดแมนดารินตัวผู้ และ 鴦 (Ou) หมายถึง เป็ดแมนดารินตัวเมีย

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีตำนานเล่าว่า ในสมัย Kamakura (พศ.1728-1876) ที่เมือง Utsunomiya ทางทิศเหนือของกรุงโตเกียว มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่า Asari gawa

พรานคนหนึ่งได้ยิงเป็ดแมนดารินตัวผู้ตายไป 1 ตัว ที่ริมแม่น้ำสายนี้ และได้ตัดคอเป็ดทิ้งไว้ แล้วนำแต่ตัวเป็ดกลับไป

รุ่งขึ้น นายพรานกลับไปยังริมแม่น้ำนั้นอีก และได้พบเป็ดตัวเมียตัวหนึ่ง นอนอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงได้ยิงเป็ดตัวนั้นตาย

แต่เมื่อเข้าไปใกล้ จึงพบว่าเป็ดตัวเมียตัวนั้น นอนอยู่ท่าที่ใช้ปีกโอบกอดศีรษะของเป็ดตัวผู้ที่ถูกตัดทิ้งไว้เมื่อวานเอาไว้ในปีก

ความรักของเป็ดแมนดาริน ทำให้นายพรานสำนึกผิดในอาชีพของตนที่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงได้สร้างแท่นศิลาไว้ที่ริมแม่น้ำนั้น เพื่อเป็นการไถ่บาป

ความรักของเป็ดแมนดารินฝังแน่นตราตรึงอยู่ในจิตใจของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นมานับพันปี

แต่ในที่สุด ความลับแห่ง "ตำนานรัก" ของเป็ดแมนดาริน ก็ถูกเปิดเผยออกมา

เป็ดแมนดาริน (Mandarin Duck) เป็นนกอพยพ สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลๆ เดิมทีมีแหล่งกำเนิดบริเวณลุ่มแม่น้ำอุสซุรี (Ussuri) และบริเวณตอนเหนือของประเทศจีน เมื่อถึงฤดูหนาวจะย้ายถิ่นลงมาทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่ปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออก

เมื่อใกล้ถึงฤดูหนาว เป็ดแมนดารินจะจับกลุ่มอยู่ด้วยกันเป็นฝูง และเมื่อถึงฤดูหาคู่และฤดูผสมพันธ์ คือประมาณเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป เป็ดแมนดารินตัวผู้ จะเปลี่ยนเป็นสีสรรที่สวยสดงามอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ในฤดูหาคู่นี้ เป็ดตัวผู้จะพยายามดึงดูดความสนใจของตัวเมียด้วยวิธีต่างๆนานา และเมื่อหาคู่ครองได้แล้ว ก็จะแยกออกจากฝูง เพื่อไปอยู่ด้วยกันตามลำพัง

ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาว เราจึงมักพบเห็นเป็ดแมนดาริน ใช้ชีวิตเป็นคู่ๆ อยู่อย่างใกล้ชิดกันตลอดเวลา จนทำให้คนโบราณเข้าใจว่า เป็ดแมนดารินเป็นสัตว์ที่มีคู่ครองเพียงตัวเดียวไปจนตลอดชีวิต

แต่แท้ที่จริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เมื่อเป็ดตัวเมียทำรังเสร็จ และพร้อมที่จะเริ่มวางไข่ เป็ดตัวผู้ซึ่งเคยยืนเฝ้าเคียงข้างอยู่ตลอดเวลา ก็จะโบกมืออำลาจากไป

ทิ้งหน้าที่ฟักไข่ ตลอดจนการเลี้ยงดูลูกเป็ดที่จะฟักออกมาในอีก 30 วันข้างหน้า ไว้ให้เป็นหน้าที่ของเป็ดตัวเมียแต่เพียงลำพัง

เป็ดตัวผู้ที่แยกทางกับตัวเมีย จะกลับเข้ารวมฝูงกับเป็ดตัวผู้ด้วยกันเอง และหากบังเอิญพบเป็ดตัวเมียที่ยังไม่มีคู่ เป็ดตัวผู้ที่โชคดี ? ก็อาจจับคู่ผสมพันธุ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ในฤดูกาลนั้น

เมื่อฤดูผสมพันธุ์ผ่านพ้นไป สีสรรที่สวยงามของเป็ดตัวผู้ก็จะพลอยหายไปด้วย ต้องรอจนกระทั่งฤดูหาคู่ครั้งหน้า วนกลับมาอีก

ซึ่งแน่นอนว่า คู่ครองในฤดูกาลต่อไป ย่อมมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่จะเป็นคู่ครองตัวเดียวกันกับในฤดูกาลนี้

การแสดงตน เป็นสุภาพบุรุษ ที่คอยพะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจ และอยู่เคียงข้างแฟนสาวตลอดเวลา ของเป็ดแมนดาริน จึงมีระยะเวลาอย่างมากเพียงไม่เกิน 6 เดือน และหลังจากฝากความรักต่อกันและกันแล้ว ก็จะอำลาจากกันไป

ปัจจุบัน แม้ว่า "ตำนานลับ" ของเป็ดแมนดาริน จะถูกเปิดเผยออกมาเป็นที่กระจ่างแล้ว

แต่เป็ดแมนดาริน ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์เช่นเดิม

การอวยพรแก่คู่บ่าวสาวให้ครองรักกันดั่งเช่นเป็ดแมนดาริน จึงย่อมไม่ได้หมายความว่า ให้ครองรักกันเพียงแค่ช่วงเวลา 6 เดือน เฉกเช่นดั่งโลกแห่งชีวิตจริงของเป็ดแมนดาริน

pageviews 1,967,996