สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

การให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ของญี่ปุ่น

โดย Webmaster : อ่าน 44,485 ครั้ง

การให้ช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท Morozoff ที่เมืองโกเบ ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ Japan Adviser เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พศ. 2479 เพื่อเชิญชวนให้มอบช็อคโกแล็ตแก่กันและกันในวันวาเลนไทน์

ซึ่งเข้าใจว่า การโฆษณานี้เป็นการโฆษณาแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแถบเมืองโกเบเป็นหลัก เนื่องจากในขณะนั้น ธรรมเนียมการมอบดอกไม้แก่คู่รักในวันวาเลนไทน์ แทบจะยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นเลย

แต่สำหรับการเริ่มรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักวันวาเลนไทน์นั้น น่าจะกล่าวได้ว่า เริ่มขึ้นใน พศ. 2501

คือ ในเดือนมกราคม พศ. 2501 ผู้จัดการฝ่ายขาย ของบริษัท Mary Chocolate ที่กรุงโตเกียว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น president ของบริษัท ได้รับ Postcard ฉบับหนึ่งจากเพื่อนที่กรุงปารีส จึงได้ทราบว่า ที่ยุโรปมีประเพณีการมอบดอกไม้ การ์ด หรือช็อคโกแลต ต่อกันและกันระหว่างคู่รักในวันวาเลนไทน์

บริษัท Mary จึงเกิดไอเดียที่จะนำประเพณีนี้มาเผยแพร่ในญี่ปุ่น โดยเลือกเฉพาะการมอบช็อคโกแลต ซึ่งเป็นสินค้าในธุรกิจของบริษัทโดยตรง

บริษัท Mary ได้ทำแคมเปญจน์ส่งเสริมการขาย ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน โดยวางจำหน่ายช็อคโกแลตในช่วงวันวาเลนไทน์ ที่ห้างสรรพสินค้า Isetan ซึ่งเป็นห้างที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เป็นเวลา 3 วัน

แต่ปรากฏว่าสามารถจำหน่ายช็อคโกแลตแบบแผ่น ได้เพียง 3 ชิ้น ชิ้นละ 50 เยน และจำหน่ายการ์ด ได้ 1 ใบ ใบละ 20 เยน รวมยอดขายใน 3 วัน เป็นเงินเพียง 170 เยนเท่านั้น

ในปีถัดไป บริษัท Mary ยังคงพยายามทำแคมเปญจน์นี้อีก โดยทำช็อคโกแลตเป็นรูปหัวใจ และสลักชื่อของผู้ให้และผู้รับลงในช็อคโกแลต พร้อมกับใช้ข้อความเชิญชวนว่า "เป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในรอบ 1 ปี ที่ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นฝ่ายแสดงความในใจให้กับชายที่ตนรัก" ซึ่งแตกต่างไปจากประเพณีเดิมที่เป็นการมอบให้ซึ่งกันและกันระหว่างคู่รัก

สาเหตุที่บริษัทพยายามชี้ชวนให้ผู้หญิง เป็นฝ่ายมอบช็อคโกแลตให้กับคนที่ตนรัก เนื่องจากคนที่เข้าไปจับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง และในช่วงเวลานั้น ก็เป็นช่วงที่ผู้หญิงเริ่มจะออกมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น บริษัทจึงเล็งกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้หญิง

แต่การทำแคมเปญจน์นี้ ก็แทบจะไม่ได้รับความนิยมเช่นเคย

ขณะเดียวกัน ในปี พศ. 2499 บริษัท Morinaga ผู้ผลิตขนมหวานรายใหญ่ของญี่ปุ่น ก็ทราบเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวันวาเลนไทน์ของชาวยุโรป จากนิตยสารอังกฤษฉบับหนึ่ง

บริษัท Morinaga จึงได้เริ่มทำการสำรวจตลาดในปี พศ. 2502 และพบว่าชาวญี่ปุ่นที่ทราบเรื่องวันวาเลนไทน์ มีอยู่เพียง 3% เท่านั้น

ดังนั้น ในต้นปี พศ. 2503 บริษัท Morinaga จึงได้จัดแคมเปญจน์ ชื่อ "Valentine Gift Campaign" และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั่วประเทศพร้อมกันในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นมอบช็อคโกแลต เป็นของขวัญแก่คนที่ตนรักในวันวาเลนไทน์

และในปีถัดมา บริษัทก็ได้จัดแคมเปญจน์แจกรางวัล ชื่อว่า "Morinaga Chocolate Valentine Gift" เพื่อมอบของรางวัลให้กับผู้ที่ร่วมชิงโชค โดยในปี พศ. 2504 มีผู้ส่งจดหมายร่วมชิงรางวัล 2 แสนคน และเพิ่มเป็นในปี 4.2 แสนคน ในปี พศ. 2505 ทำให้วันวาเลนไทน์เริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ยังคงไม่ถึงกับขั้นที่เรียกว่าแพร่หลายมากนัก

ประมาณ 10 ปี ต่อมา สมาคมผู้ประกอบการช็อคโกแลตและโกโก้ของญี่ปุ่น ได้กำหนดให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันช็อคโกแลต" และบริษัทที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้รวมตัวกันประโคมข่าวเกี่ยวกับการมอบช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์

จนกระทั่งประมาณปี พศ. 2518 ธรรมเนียมการมอบช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์ จึงได้เริ่มซึมทราบเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน การให้ช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์ ได้แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบ ได้แก่

ตามประเพณีของญี่ปุ่น เมื่อมีการได้รับของขวัญ ย่อมต้องมีการให้สิ่งตอบแทนกลับไป

จึงเป็นธรรมดาที่กลุ่มผู้ประกอบการลูกอมลูกกวาดและขนมหวานต่างๆ ย่อมหาโอกาสที่จะสร้างธรรมเนียมให้ผู้ชายที่ได้รับช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ จะต้องให้สิ่งตอบแทนแก่ผู้หญิงกลับไปด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า ย่อมต้องไม่ใช่การมอบสิ่งตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกัน มิฉะนั้น จะกลายเป็นการรับจากฝ่ายหนึ่ง แล้วเอาไปมอบให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการไม่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น สมาคมผู้ประกอบการเหล่านี้ จึงได้กำหนดให้วันที่ 14 มีนาคม คือ 1 เดือนถัดจากวันวาเลนไทน์ ของทุกปี เป็นวัน White Day (หรือวัน Candy Day) คือเป็นวันที่ผู้ชายจะต้องมอบสิ่งตอบแทนกลับไปให้กับผู้หญิง

ในยุคฟองสบู่เฟื่องฟูสุดขีด ถึงกับมีการกำหนดกันเลยว่า จะต้องตอบแทนกลับไปเป็นมูลค่า 3 เท่าของสิ่งที่ได้รับ เล่นเอาผู้ชายแทบกระเป๋าฉีกไปตามๆกัน

แต่สมัยนี้ การให้ของตอบแทน จะให้ในระดับที่มีราคาสูงกว่าสิ่งที่ได้รับมาเล็กน้อยก็พอ

ธรรมเนียมการที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายให้ช็อกโกแลตแก่ชายที่ตนรักในวันวาเลนไทน์ และธรรมเนียมการที่ผู้ชายจะให้สิ่งตอบแทนกลับในวัน White Day ตามสไตล์ญี่ปุ่นนี้ ปัจจุบันได้แพร่หลายไปในประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน อย่างกว้างขวาง ตลอดจนในประเทศจีนบางส่วนด้วย

และสำหรับประเทศไทย อันเปรียบประหนึ่งสถานที่หลอมรวมประเพณีและวัฒนธรรมจากทั่วโลก ก็ย่อมจะไม่รอดพ้นจากธรรมเนียมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มา :
https://www.morozoff.co.jp/company_ir/history_index.html
https://www.mary.co.jp/about/index.html
https://www.morinaga.co.jp/recipe/sp/sp_02/tale.html

pageviews 1,967,997