สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

"แมลง" กับความเชื่อของคนญี่ปุ่น

โดย webmaster : อ่าน 44,756 ครั้ง

Ookuwagata

เมื่อพูดถึงคำว่า mushi (虫) ชาวต่างชาติที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคน คงจะนึกถึงคำว่า "แมลง" ขึ้นมาในทันที

และเมื่อพูดถึงคำว่า Mushi King หรือราชันย์แห่งแมลง หลายต่อหลายคนก็คงนึกถึงภาพยนต์การ์ตูน หรือเกมการ์ด หรือเกมส์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า หรือการต่อสู้ของแมลงปีกแข็ง โดยมีด้วงกว่างเป็นพระเอก

Kabutomushi

ชาวญี่ปุ่นมีคุ้นเคยกับแมลงเป็นอย่างมาก ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน งานอดิเรกและการใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินในช่วงปิดเทอมในฤดูร้อนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นการจับ สะสม เลี้ยง และศึกษาวงจรชีวิตของแมลง นั่นเอง

ในพจนานุกรมญี่ปุ่น คำว่า mushi นอกจากจะแปลว่า "แมลง" หรือ "แมลงปีกแข็ง" แล้ว ยังมีความหมายว่า "สิ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามีความสามารถอย่างอัศจรรย์ในการควบคุมอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ โดยจะเปลี่ยนตำแหน่งที่อาศัยในร่างกายของบุคคลนั้นเป็นครั้งคราว" อีกด้วย

Konchuu

mushi ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงท้องร้องเมื่อยามหิว และจะเงียบเสียงลงเมื่อให้อาหาร และยามใดที่ mushi ที่ว่านี้ เคลื่อนย้ายตัว ก็จะทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพะอืดพะอม และอาจจะอาเจียนออกมาเป็นของเหลวที่มีรสเปรี้ยวซึ่งเป็นสารที่ปล่อยออกมาจาก mushi ที่ว่านั้น

mushi ดังกล่าว จึงไม่ใช่ "แมลง" ตามความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็น "สัตว์"? อีกชนิดหนึ่ง ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้

◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇

Sanshi

ในสมัยเฮอัน 平安 คือเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลความเชื่อตามลัทธิเต๋า เกี่ยวกับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวว่า ในร่างกายของมนุษย์มีพยาธิอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด 3 ตัว (sanshi no mushi)

ประกอบด้วย พยาธิตัวบน อยู่ในรูปนักพรต อาศัยอยู่ที่ศีรษะ พยาธิตัวกลาง อยู่ในรูปสัตว์ อาศัยอยู่ที่ลำตัว และพยาธิตัวล่าง อยู่ในรูปศีรษะวัว อาศัยอยู่ที่ขา

พยาธิทั้ง 3 ตัว มีความยาวประมาณ 6 ซม. จะอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์เพื่อทำหน้าที่เฝ้าดูพฤติกรรมการกระทำความชั่วของมนุษย์ผู้นั้น

เมื่อถึงคืนวัน Kanoe saru (庚申) หรือวันเกิงเซิน (นักษัตรลิง ธาตุทอง) ซึ่งจะเวียนมาครบรอบทุกๆ 60 วัน พยาธิทั้ง 3 ตัวก็จะออกจากร่างในขณะที่มนุษย์ผู้นั้นนอนหลับ และขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อรายงานต่อพญายมราชให้ทราบถึงการการกระทำกรรมชั่วของมนุษย์ผู้นั้น

Emma Daiou

พญายมราชก็จะมีบัญชาให้มนุษย์ผู้นั้นมีอายุขัยสั้นลงตามความผิด และเมื่อบันทึกความผิดครบ 500 ข้อ มนุษย์ผู้นั้นก็จะต้องจบสิ้นชีวิต และตกนรกเพื่อชดใช้กรรม ตามความผิดที่พยาธิได้รายงานไว้นั้น

ดังนั้น เมื่อถึงค่ำคืนในวัน Kanoe saru ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อสักการะเทพเจ้า พร้อมทั้งปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เพื่อไม่ให้พยาธิทั้ง 3 ได้มีโอกาสออกจากร่างไป

koushintou

งานเลี้ยงฉลองนี้ จะจัดขึ้นทุกๆ 60 วัน เมื่อวัน Kanoe saru เวียนมาบรรจบครบรอบ

และเมื่อจัดต่อเนื่องครบ 18 ครั้ง รวมเป็นเวลา 3 ปี ชาวบ้านก็จะสร้างหลักศิลา โดยผสมผสานเข้ากับความเชื่อที่มีอยู่เดิมตามศาสนาพุทธ และนิกายชินโต หรือสร้างเนินดินไว้ที่ชายขอบหมู่บ้าน เพื่อแกะสลักหรือประดิษฐานเทวรูปที่เชื่อกันว่า มีอิทธิฤทธิ์ในการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับแกะสลักรูปลิง 3 ตัว (ไม่ดู ไม่พูด ไม่ฟัง) ไว้ที่ป้ายศิลานั้นด้วย

เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ คือเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน ความเชื่อเรื่องพยาธิในร่างกายมนุษย์ตามลัทธิเต๋าและการแพทย์แผนจีน แผ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น โดยได้เพิ่มพยาธิขึ้น 9 ชนิด (Sanshi kuchuu) ซึ่งพยาธิทั้ง 9 ชนิดที่เพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วย

mushi

ซึ่งแน่นอนว่าในยุคสมัยนั้น มนุษย์ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งในเรื่องชีววิทยาและจิตวิทยาเช่นเดียวกับปัจจุบัน

ดังนั้น ความเชื่อเรื่องพยาธิ 9 ตัวในร่างกาย จึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายเรื่องเกี่ยวกับอาการผิดปกติ ทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึก และในด้านสภาพร่างกายและจิตใจได้ดีที่สุด

เช่น การที่ท้องร้องในยามหิว ก็สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเสียงร้องของพยาธิที่อยู่ในกระเพาะ หรือแม้กระทั่งกรดในกระเพาะ ก็คือสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวพยาธิเช่นกัน

ดังนั้น จึงเรียกอาหารว่างหรือของขบเคี้ยวที่ทานตอนที่ท้องว่าง ว่า Mushi osae (ของห้ามพยาธิ) หรือ Mushi yashinai (ของเลี้ยงพยาธิ)

ชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น มีความเชื่อว่า พยาธิทั้ง 9 ชนิดนี้ เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย และความผิดปกติทางความคิด และสติอารมณ์ของบุคคลผู้นั้น และกลายเป็นสำนวนต่างๆที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาจนถึงทุกวันนี้

mushi4

สำนวนที่เกี่ยวกับพยาธิ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีมากมายหลายสำนวน อาทิเช่น

mushi1

นอกจาก mushi ที่หมายถึงพยาธิในร่างกายแล้ว ยังมี mushi ประเภทที่อยู่นอกร่างกายในความหมายของ "หนอน" หรือ "แมลง" ซึ่งใช้ในสำนวนในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นอีกมาก อาทิเช่น

mushi2

สรุปโดยรวม คงกล่าวได้ว่า คำว่า mushi ในภาษาญี่ปุ่น นอกจากจะหมายถึงแมลงชนิดต่างๆ ที่เรารู้จักกันดีแล้ว ยังมีความหมายอื่นซ่อนอยู่อีก

โดยเฉพาะการใช้ในสำนวนที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือภาวะจิตใจ ในความหมายที่มีอาการไม่เป็นปกติ จะนำเอา mushi มาช่วยแบกรับความผิดนั้นไป โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา อันเป็นวัฒนธรรมทางภาษาของญี่ปุ่นในการเลือกใช้คำพูดที่อ้อมค้อมในเชิงเปรียบเปรย เพื่อให้เกียรติและไม่หักหาญน้ำใจฝ่่ายตรงข้ามนั่นเอง

やはり無視できません。
皆さんもそう思いませんか。
寒うぅ....

Webmaster
11 มกราคม 2555

pageviews 1,967,973