สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

ชาวญี่ปุ่นเขาทำอะไรในวันขึ้นปีใหม่

โดย webmaster : อ่าน 44,868 ครั้ง

ก่อนถึงวันที่ 1 มกราคม อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ ซี่งแม้ว่าอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น แต่ประเพณีที่มักจะพบเห็นได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประกอบด้วย

  1. การประดับสิ่งสักการะพระเจ้า
  2. การทานอาหารสิริมงคลในเทศกาลปีใหม่ และ
  3. การไปนมัสการศาลเจ้า

1. การประดับสิ่งสักการะเทพเจ้า

ปกติจะกระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ซึ่งประกอบด้วย

2. การรับประทานอาหารสิริมงคลในเทศกาลปีใหม่

osechi ryouri

Osechi ryouri

Osechi มีความหมายว่า "ช่วงที่เปลี่ยนฤดู" Osechi ryouri จึงหมายถึงอาหารที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการะเทพเจ้าในเทศกาลเปลี่ยนฤดู ซึ่งในสมัยเอโดะเคยกำหนดไว้ปีละ 5 ครั้ง และเมื่อเสร็จพิธี ชาวบ้านก็จะนำมาเลี้ยงฉลองและแบ่งปันกันทาน

แต่ปัจจุบัน Osechi ryouri จะหมายถึงอาหารที่ชาวญี่ปุ่นจัดทำขึ้นเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวในช่วงเทศกาลวันปีใหม่เท่านั้น ตามความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นการต่ออายุให้ยืนยาวเช่นเดียวกับ Kagami mochi

ตามปกติ Osechi ryouri จะเป็นอาหารที่เก็บไว้ทานได้นานหลายวัน ตามความเชื่อที่ว่าในช่วงที่อัญเชิญเทพเจ้ามารับเครื่องเซ่นไหว้สักการะนี้ ไม่ควรเข้าครัวเพื่อทำอาหารให้เป็นที่อึกทึกครึกโครม และอีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อให้แม่บ้านได้มีเวลาหยุดพักอย่างน้อยที่สุดก็ประมาณ 3 วัน หลังจากที่ได้เหน็ดเหนื่อยจากการทำอาหารมาตลอดทั้งปี

Osechi ryouri จะประกอบด้วยอาหารหลายชนิด แต่จะต้องมีอาหารหลัก 3 ชนิด อันเป็นของพื้นบ้าน ซึ่งกำหนดมาตั้งแต่สมัยตระกูล Tokugawa ปกครองประเทศ เพื่อไม่ให้ประชาชนใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟื้อเกินไป นั่นก็คือ ถั่วดำเชื่อม ไข่ปลาเฮอริงหมักเกลือ และลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง แต่ในเขตคันไซ คือแถบเมืองเกียวโต และโอซากา จะกำหนดอาหารหลัก 3 ชนิด คือ ถั่วดำเชื่อม ไข่ปลาเฮอริงหมักเกลือ และรากหญ้าเบอร์ดอคปรุงรส

อาหารแต่ละชนิดที่จัดเป็น Osechi ryouri จะเป็นอาหารที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น คือ

3. การไปนมัสการศาลเจ้า

hatsu moude

Hatsu moude คือ การไปนมัสการศาลเจ้าในครั้งแรกของรอบปี ซึ่งตามปกติ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไปนมัสการศาลเจ้าภายในวันที่ 3 มกราคม ของปีนั้นๆ เพื่อความเป็นศิริมงคลและให้เทพเจ้าคุ้มครอง

แต่ปัจจุบัน เนื่องจากการวัฒนธรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป คือ ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในวันหยุดช่วงวันขึ้นปีใหม่เพิ่มขึ้น การไปนมัสการศาลเจ้าครั้งแรกในรอบปี จึงชะลอไปถึงวันที่ 7 มกราคม หรือ 15 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ถอด Matsu kazari ออก ตามธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นนั้นๆ

saisenbako

เมื่อเดินทางไปถึงศาลเจ้า และอยู่หน้ากล่องถวายเงินซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลเจ้า ชาวญี่ปุ่นมีธรรมเนียมในการสักการะและขอพรจากเทพเจ้า โดยแยกได้เป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้

  1. โยนเหรียญใส่กล่องถวายเงิน
    เป็นขั้นตอนเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่บนโลกมนุษย์ให้มารับการสักการะ
  2. ลั่นกระดิ่ง
    ข้างหน้ากล่องถวายเงิน จะมีเชือกถักเส้นใหญ่ซึ่งมีกระดิ่งแขวนติดอยู่ ห้อยลงมาจากขื่อคานของศาลเจ้า ให้โยกเชือกดังกล่าวเพื่อลั่นกระดิ่ง อันเป็นขั้นตอนเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่บนสรวงสวรรค์ให้ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อรับการสักการะ
  3. โค้งคำนับ 2 ครั้ง
    เป็นขั้นตอนการสักการะเทพเจ้าจากฟ้าและดินที่ได้อัญเชิญมา
  4. พนมมือและขอพร
    ขัั้นตอนนี้ถือได้ว่า เป็นขั้นตอนและวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด ในการเดินทางมานมัสการที่ศาลเจ้า
    เมื่อสักการะเทพเจ้าที่อัญเชิญมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ขอพรจากเทพเจ้า ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอธิษฐานขอพรในใจ แต่หากจะกล่าวขอพรออกมาเป็นคำพูดก็ไม่น่าจะผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด แต่จะต้องอยู่ในอาการคารวะและสำรวม
    การขอพรจากเทพเจ้า ควรขอพรให้ชัดเจน ไม่ใช่ขอพรแบบกำกวมหรือเป็นนามธรรมเกินไป เช่น การขอพรว่า "ขอให้มีความสุข" ย่อมไม่ใช่วิธีการขอพรที่ดี เพราะเทพเจ้าเองก็อาจจะไม่ทราบว่า "ความสุข" ที่คุณหมายถึงนั้น คือความสุขในระดับใด
    ดังนั้น จึงไม่ต้องเหนียมอายที่จะขอพร แต่ควรขอพรอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา เช่น "ขอให้ได้แต่งงานกับคุณ .... ที่ยืนอยู่ข้างๆ" หรือ "ขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ... ได้" เป็นต้น
  5. ปรบมือ 2 ครั้ง
    เป็นขั้นตอนแสดงความคารวะเทพเจ้าที่ได้มารับฟังสิ่งที่เราขอพร และขออัญเชิญให้กลับไปสถิตย์ยังที่เดิม
  6. โค้งคำนับ 1 ครั้ง
    เป็นการแสดงการคารวะต่อศาลเจ้าอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารถึงเทพเจ้าได้

omikuji

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นที่ไปนมัสการศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ มักจะนิยมเสี่ยงเซียมซี

ใบเซียมซีจะทำนายโชคไว้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับ Dai kichi (โชคดีที่สุด) ไปจนถึงระดับ Dai kyou (โชคร้ายที่สุด) ซึ่งศาลเจ้าแต่ละแห่ง อาจจะแบ่งลำดับความโชคดีโชคร้ายนี้ไว้แตกต่างกัน เช่น แบ่งเป็น 5 ระดับ หรือ 7 ระดับ หรือ 12 ระดับ ก็มี

นอกจากนี้ ในใบเซียมซีจะทำนายถึงเรื่องอื่นๆ ได้แก่ สุขภาพ ชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัติ ความรัก หรือการเดินทาง รวมอยู่ด้วย

ema

ใบเซียมซีถือเป็นวาจาอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า ควรจะต้องพกติดตัวตลอดเวลา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ว่าคำทำนายนั้นจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม จากนั้นจึงค่อยนำมาคืน เมื่อย้อนกลับมานมัสการที่ศาลเจ้าอีกครั้งหนึ่งในภายหลัง หรือหากคำทำนายออกมาไม่ดี จะผูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้า โดยไม่นำติดตัวกลับไปก็ได้

แต่ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ศาลเจ้าบางแห่งก็อาจจะไม่ใส่ใบเซียมซีที่เป็นเรื่องโชคร้ายไว้ในกล่องเซียมซีนั้นก็ได้

นอกจากการเสี่ยงเซียมซีแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะเขียนขอพรบนป้ายแผ่นไม้รูปทรงหลังคา เรียกว่า Ema และผูกติดไว้ที่ศาลเจ้า

hamaya

และมักจะซื้อ Hamaya หรือธนูปราบมาร และเครื่องลางต่างๆ ซึ่งศาลเจ้าแต่ละแห่งจะจัดเตรียมไว้มากมายหลายชนิด เช่น เครื่องลางที่ขอให้เดินทางปลอดภัย ขอให้สอบได้ ขอให้สุขภาพแข็งแรง หรือขอให้คลอดบุตรปลอดภัย ฯลฯ กลับไปเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ประเพณีต่างๆ ข้างต้นในวันขึ้นปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น ล้วนมีพื้นฐานจากความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นวันที่จะอัญเชิญเทพเจ้าให้มาปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดไปจากชีวิต เพื่อต่ออายุและสุขขะพลานามัย

ซึ่งประเพณีปฏิบัตินี้แม้ว่าปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตกาลเมื่อหลายร้อยปีก่อนไปบ้าง แต่ก็ยังดำรงรักษาสืบเนื่องต่อมา และเป็นที่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นจะยังคงรักษาประเพณีปฏิบัติเหล่านี้สืบต่อไปในอนาคต แม้ว่าอารยธรรมตะวันตกหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นมากขึ้นกว่านี้เพียงใดก็ตาม

Webmaster
31 ธันวาคม 2554

pageviews 1,967,987